(7 มี.ค. 54) นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการหนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
สำหรับโครงการหนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ เพื่อส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งองค์กรส่วนท้องถิ่นในการวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยการบูรณาการองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม สู่การขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม ให้เหมาะสมกับบริบทเชิงพื้นที่ โดยมีกิจกรรมสำคัญ คือ 1. การจัดตั้งศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัด 2. การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม 3. การสร้างความเป็นพลเมืองของนิสิตนักศึกษา 4. การสร้างบรรยากาศเพื่อการปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา โดย สกอ. ได้เร่งรัดดำเนินการโครงการคู่ขนานในการจัดตั้งศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัด ภายในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลักของจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อเป็นหน่วยคลังข้อมูลรวมของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานหลักในการวิจัยและพัฒนาด้านต่างๆ และส่งเสริมการสร้างยุทธศาสตร์จังหวัด ต่อยอดผลงานวิจัย และพัฒนากลยุทธ์การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมา สกอ. ได้ชี้แจงนโยบายและแนวทางการดำเนินการกำหนดพื้นที่ความรับผิดชอบระหว่างจังหวัดกับสถาบันอุดมศึกษา กับประธานเครือข่ายอุดมศึกษา 9 เครือข่ายในฐานะตัวแทนของสถาบันอุดมศึกษา 169 แห่ง และร่วมกันจัดทำแผนภาพรวม (Matching Mapping) พื้นที่ความรับผิดชอบระหว่างสถาบันอุดมศึกษา กับจังหวัดได้ครบถ้วนทั้งประเทศรวม 76 จังหวัดแล้ว
นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือแนวทางการบูรณาการความร่วมมือโครงการหนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด และกำหนดกรอบแนวทางความร่วมมือที่ชัดเจน โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการรวม 2 ปี เพื่อบูรณาการความร่วมมือขององค์กรภาครัฐและเอกชนในพื้นที่รับผิดชอบ ในการเสริมสร้างศักยภาพของจังหวัดด้านสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมอนุรักษ์พัฒนาประเพณีภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเป็นกลไกร่วมประสาน และพัฒนาคุณภาพวิถีชีวิตของชุมชน ท้องถิ่น ภายใต้บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมาย สนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัด ผ่านกลไกสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนและพัฒนาให้เป็นศูนย์การศึกษา วิจัย และพัฒนาชุมชนพื้นที่ และเป็นฐานข้อมูลองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และวิชาการของจังหวัด ในการสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถเชิงการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคม และการอนุรักษ์พัฒนาสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างช่องทางการสื่อสาร การถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาสู่ชุมชนท้องถิ่น เพื่อเป็นกลไกรับฟังความคิดเห็นผ่านเวทีสาธารณะ และพัฒนานโยบายสาธารณะที่ตอบสนองความต้องการของภาคประชาสังคม รวมทั้งการสื่อสารข้อมูลความเป็นจริง เพื่อสร้างความเข้าใจ ที่ถูกต้องต่อสาธารณะ
สำหรับภารกิจความร่วมมือมีดังนี้ 1. สนับสนุน ส่งเสริม และประสานสถาบันอุดมศึกษาเพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่ในระดับจังหวัด โดยบูรณาการความร่วมมือกับส่วนราชการและภาคเอกชนระดับจังหวัดและชุมชนท้องถิ่นเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาและนำไปสู่การปฏิบัติ 2. สนับสนุนองค์ความรู้วิชาการ ทรัพยากร และผู้เชี่ยวชาญเพื่อการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ 3. สนับสนุนการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้วิชาการ และข้อมูล เพื่อบูรณาการสู่การดำเนินการวิจัยและพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่ตามยุทธศาสตร์จังหวัด 4. สนับสนุนและส่งเสริมศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัด ในด้านการกำกับนโยบายทิศทางการดำเนินงานศึกษาวิจัย และร่วมพัฒนานโยบายสาธารณะ และ 5. การมีส่วนร่วมนำผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่การปฏิบัติการเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น