ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ ยันรถไฟฟ้าโมโนเรล-ไรท์เรลต้องเกิดแน่ในกรุงเทพฯ

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกของกรุงเทพมหานคร คณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสื่อมวลชนเยี่ยมชมระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) ระหว่างวันที่ 11-14 ก.พ. 55 ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อมาถึงสนามบินเซี่ยงไฮ้ในวันที่ 11 ก.พ. 55 ได้นั่งรถไฟความเร็วสูง “แมคเลฟ” (MAGLEV) ซึ่งเป็นรถไฟระบบแม่เหล็กที่ถูกบันทึกว่าเร็วที่สุดในโลก คือ ความเร็ว 431 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันมีเส้นทางเดียว คือ จากสนามบินเซี่ยงไฮ้มาตัวเมืองเซี่ยงไฮ้ ระยะทาง 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 7 นาที ถือเป็นประสบการณ์สำคัญที่ได้มีโอกาสนั่งรถไฟที่เร็วที่สุดในโลก ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น โดยส่วนตัวเห็นว่ากรุงเทพฯ ยังไม่เหมาะที่จะใช้ระบบนี้ เพราะไม่คุ้มค่า และใช้งบประมาณลงทุนสูงนับหมื่นล้านบาท สาธารณรัฐประชาชนจีนมีอัตราการขยายตัวทาง่เศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจีนจึงพยายามยกระดับขีดความสามารถทางการขนถ่ายสินค้าของประเทศจีนให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากทั่วโลก ฉะนั้นจีนจึงจำเป็นต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และครอบคลุมการให้บริการสำหรับประชาชนอย่างดีที่สุด และปัจจุบันสามารถก่อสร้างระบบขนส่งรถไฟฟ้าได้ถึง 11 สาย จากทั้งหมด 13 สาย รวมระยะทาง 425 กิโลเมตร และขณะนี้ประเทศจีนอยู่ระหว่างก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินอีก 450 กิโลเมตร แล้วเสร็จในปี 2557
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า รถไฟความเร็วสูง หรือ”แมคเลฟ” (MAGLEV) นี้ ใช้เทคนิค Areo Train คือ การลดแรงเสียดทาน จึงสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูง โดยรถไฟจะลอยจากรางประมาณ 2 เซนติเมตร และทั้ง 2 ข้างมีเหล็กหุ้มห่างออกไปข้างละ 1 เซนติเมตร เวลาที่รถไฟออกตัวจึงเหมือนลักษณะบิน
สำหรับวันที่ 12 ก.พ. 55 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะฯได้ออกเดินทางไปยังสถานีรถไฟความเร็วสูงแบบหัวกระสุน โดยใช้ระบบไฟฟ้า ซึ่งทำความเร็วได้ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเดินทางจากเมืองเซี่ยงไฮ้ไปยังเมืองหางโจว ระยะทาง 160 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 49 นาที การลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงครั้งนี้ทำให้จีนเปิดตัวทางเศรษฐกิจกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามหากกรุงเทพฯ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าถึงมากกว่านี้ได้ ประกอบกับมีการลงทุนในระยะยาวและ มีการวางผังเมืองที่ดี ก็อาจมีระบบรถไฟแบบนี้ โดยอาจสร้างในจังหวัดใกล้ๆ กรุงเทพฯ ในระยะทาง 70-200 กิโลเมตร จะทำให้ประชาชนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ สะดวกขึ้น ซึ่งหากทำได้จะเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของประชาชน รวมทั้งลดความหนาแน่นของประชากร และประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้หากประเทศไทยจะสร้างระบบขนส่งมวลชนเช่นเดียวกัน จะต้องลงทุนมหาศาล โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของผู้โดยสาร การป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ หรือการก่อการร้ายที่จำเป็นต้องมีกล้องวงจรปิดครอบคลุมทั้งพื้นที่ และมาตรการเข้มงวดต่างๆ
จากนั้น ผู้ว่าฯกทม. และนายเซียว ว่าน หมิง รองผู้ว่าราชการเมืองฉางชุน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ ระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กับบริษัท Changchun Railways Vehicles Co.Ltd นับเป็นความร่วมมือที่สำคัญเพื่อตอบสนองการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางของเมืองเซี่ยงไฮ้ และกรุงเทพฯ ที่จะรองรับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบางหว้าซึ่งจะเปิดให้บริการในปลายปีนี้
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวด้วยว่า สำหรับโครงการรถไฟระบบโมโนเรลและไรท์เรลเป็นระบบขนส่งที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ขณะนี้โครงการดังกล่าวได้มีการชะลอออกไป เนื่องจากมีปัญหาเรื่องงบประมาณ แต่ตนยืนยันว่าระบบนี้จะต้องมีในกรุงเทพฯ ทั้งนี้การสร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ อย่างบีทีเอสและบีอาร์ที ให้ครบทุกพื้นที่ทำได้ยาก แต่ระบบโมโนเรลและไรท์เรลใช้พื้นที่น้อย และลงทุนน้อย ทั้งยังสามารถอำนวยความสะดวกได้เช่นเดียวกับบีทีเอส หากไม่ดำเนินการโครงการนี้ ความหนาแน่นของจราจรในกรุงเทพฯจะไม่ลดลง อย่างไรก็ตาม ตนมีแผนงานโครงการดังกล่าวแล้ว รวมทั้งได้ศึกษาเส้นทางไว้เรียบร้อยแล้ว หากผู้ว่าฯ กทม. ในสมัยหน้า ต้องการเดินหน้าโครงการนี้ก็สามารถทำได้ทันที
“ผมวางแผนและศึกษาเส้นทางรถไฟระบบโมโนเรลไว้แล้ว ใครมาเป็นผู้ว่าฯ สมัยหน้า ยังไงก็ต้องทำ เพราะประชาชนต้องใช้สัญจรเพื่อไปทำงาน ติดต่อหน่วยงานราชการและสถานที่ต่างๆ ส่งผลให้การจราจรติดขัด เดินทางไม่สะดวก ดังนั้นโครงการนี้จะช่วยแก้ไขและต้องเดินหน้าให้ได้” ผู้ว่าฯกทม. กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น