ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

แผ่นดินไหวพม่าไม่กระทบอาคารและเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูฯ ของไทย

รองผู้ว่าฯ พรเทพ นำทีมวิศวกรตรวจอาคารและเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูฯ หนึ่งในอาคารเสี่ยงภัยเหตุแผ่นดินไหว ไม่พบความผิดปกติ พร้อมย้ำคนกรุงเทพฯ อย่าตื่นตระหนก ขณะเดียวกันผลศึกษาจุฬาฯ และ สทน. สรุปชัดโครงสร้างอาคารและบ่อปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยมีความปลอดภัยต่อแรงแผ่นดินไหว ได้รับการออกแบบให้รับแรงกระแทกสูงสุด หากเกิดเหตุฉุกเฉินเครื่องจะปิดระบบทำงานและไม่มีรังสีรั่วไหล
(30 มี.ค. 54) นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ผู้แทนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกันตรวจสอบอาคารคลุมเครื่องปฏิกรณ์และบ่อเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ถ.วิภาวดีรังสิต เพื่อตรวจสอบอาคารที่มีความเสี่ยงจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวประเทศพม่า 6.7 ริกเตอร์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออาคารและเครื่องปฏิกรณ์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยจากการแพร่กระจายของรังสีให้แก่ประชาชนกรุงเทพฯ โดยมี นายศักดา เจริญ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ และนายสิริพล เชื้ออินต๊ะ ผู้อำนวยการกลุ่มปฏิบัติการเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ให้การต้อนรับและชี้แจงรายละเอียด
นายพรเทพ กล่าวภายหลังจากตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารคลุมเครื่องปฏิกรณ์และบ่อเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ปรากฏว่าไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และสามารถเดินเครื่องได้ปกติ พร้อมทั้งแจ้งให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยของประเทศไทยนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยเท่านั้น และมีกำลังต่ำกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่าไดอิชิของประเทศญี่ปุ่นนับพันเท่า เครื่องปฏิกรณ์ของไทย มีกำลังความร้อนเพียง 1.2 เมกะวัตต์ โดยแกนเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยของประเทศไทยทำจาก สแตนเลสซึ่งแช่อยู่ในบ่อบรรจุน้ำและมีระบบน้ำเลี้ยงตลอดเวลา สามารถระบายความร้อนโดยไม่ต้องใช้ปั๊ม และมีระบบกำบังรังสี ทำให้การกระจายรังสีสู่สิ่งแวดล้อมเป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังได้รับการออกแบบให้สามารถรับแรงกระแทกแม้เครื่องบินชน ซึ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันจนทำให้เกิดผลกระทบเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยจะปิดระบบการทำงานโดยอัตโนมัติทันที
ในส่วนของตัวอาคารคลุมเครื่องปฏิกรณ์แม้จะมีอายุการใช้งานกว่า 50 ปี แต่ยังมีความมั่นคงแข็งแรงในระดับดีมาก ไม่มีรอยฉีกหรือรอยร้าวจากผลกระทบแผ่นดินไหว ที่สำคัญสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาความสามารถในการต้านทานแผ่นดินไหวของโครงสร้างอาคารและบ่อเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย เมื่อเดือน มิ.ย. 53 พบว่า โครงสร้างอาคารและบ่อปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยมีความปลอดภัยต่อแรงแผ่นดินไหวที่อาจเกิดขึ้น และไม่มีความจำเป็นต้องเสริมกำลังโครงสร้าง
ด้านผู้อำนวยการกลุ่มปฏิบัติการเทคโนโลยี สทน. กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยเป็นแหล่งกำเนิดนิวตรอน ซึ่งใช้สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้กับหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ปี 2505 รวมเป็นเวลาเกือบ 50 ปี ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยทางด้านนิวเคลียร์ฟิสิกซ์ วิเคราะห์หาชนิดและปริมาณของธาตุต่างๆ ที่อยู่ในตัวอย่างแร่ วิเคราะห์ตัวอย่างอาหารที่บริโภค เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ ฯลฯ วินิจฉัยโรคและการบำบัดรักษาโรคมะเร็งและเนื้องอก อีกทั้งใช้สำหรับงานถ่ายภาพภายในวัสดุว่าเป็นโพรง มีรอยรั่ว รอยร้าว โดยไม่ทำให้ชิ้นงานบุบสลาย เปลี่ยนสีอัญมณีด้วยการอาบรังสีนิวตรอนเพื่อเพิ่มมูลค่า และใช้สำหรับงานฝึกอบรมการเดินเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูสำหรับวิศวกรเพื่อให้เข้าใจระบบความปลอดภัยในระดับต่างๆ จึงขอประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว ขณะเดียวกันสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติประเมินแล้วว่า เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยจะไม่มีโอกาสเกิดวิกฤติสูงสุดคือการสูญเสียน้ำหล่อเย็นอย่างรุนแรงจนเกิดการลุกไหม้ของเครื่องปฏิกรณ์และแท่งเชื้อเพลง หรือเกิดการระเบิดของก๊าซไฮโดรเจนและแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีสู่สิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามหากเกิดแผ่นดินไหวที่ระดับสูงสุดเกิดคาดการณ์ สนท. ได้กำหนดมาตรการรองรับไว้เรียบร้อยแล้วทั้งขั้นตอนการตรวจสอบ การระงับเหตุต่างๆ อย่างชัดเจนและพร้อมที่จะปฏิบัติอย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ และหากวิกฤติมีขนาดความรุนแรงมากขึ้นยังมีการดำเนินการตามแผนฉุกเฉินด้านรังสีในระดับ สทน. และระดับชาติด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น