มั่นใจอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ปลอดสารกัมมันตรังสี
ผู้ว่าฯ กทม. นำทีมสุ่มตรวจสารกัมมันตรังสี และสารปนเปื้อนในอาหารญี่ปุ่น อาหารสด และผลไม้ ไม่พบการปนเปื้อน เพิ่มความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการบริโภคอาหาร พร้อมขอความร่วมมือผู้ค้ารายย่อยคำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภค ปรุงและจำหน่ายอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบสด สะอาด ถูกหลักอนามัย
(7 เม.ย. 54) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเฝ้าระวังคุณภาพอาหารญี่ปุ่น ณ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารซาโบเตน และร้านทามารุยะ ฮอนเท็น ในห้างสรรพสินค้าอิเซตัน เขตปทุมวัน เพื่อสุ่มตรวจหาสารกัมมันตรังสีด้วยเครื่อง PORTABLE SURVEY METER ในอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ ผลไม้ และอาหารที่ผ่านการปรุงแล้ว อีกทั้ง สุ่มตรวจหาสารปนเปื้อนในอาหาร 5 ชนิด ได้แก่ สารฟอกขาว สารกันรา บอแรกซ์ ฟอร์มาลีน และสีสังเคราะห์อาหาร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครตระหนัก และให้ความสำคัญในการติดตามและเฝ้าระวังการจำหน่ายอาหารที่มีสารปนเปื้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ และปลอดภัย โดยเฉพาะหลังจากเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ประชาชนที่นิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่นเกิดความวิตกกังวลถึงความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารญี่ปุ่นประเภทต่างๆ กรุงเทพมหานครจึงได้สุ่มตรวจคุณภาพอาหาร วัตถุดิบ และอาหารญี่ปุ่นที่ปรุงแล้ว ปรากฏว่าไม่พบสารกัมมันตรังสีและสารปนเปื้อนในอาหาร อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอาหารที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เลือกใช้วัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสี มาตรการป้องกัน รวมถึงการเลือกซื้ออาหารและผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยจากสารกัมมันตรังสีทั้งนี้ ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ได้ส่งเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจหาสารปนเปื้อนในอาหารในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารที่จำหน่ายตามท้องตลาด ในส่วนของอาหารญี่ปุ่นที่จำหน่ายในร้านอาหารส่วนใหญ่จะทราบแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่แน่ชัด หากมีปัญหาสามารถตรวจสอบจากแหล่งที่มาเพิ่มเติมได้ อีกทั้ง วัตถุดิบส่วนใหญ่นำเข้ามาในประเทศไทยก่อนเกิดเหตุภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น และปริมาณสินค้าที่นำเข้าแต่ละครั้งเก็บรักษาไว้จำหน่ายได้นานถึง 6 เดือน นอกจากนี้ ก่อนนำเข้ามาในประเทศ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) และกรมศุลกากร จะตรวจสอบความปลอดภัยก่อนจึงอนุญาตให้จำหน่ายได้ ประชาชนมั่นใจได้ว่าได้รับความปลอดภัยจากบริโภคอาหารญี่ปุ่นประเภทต่างๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น