กทม.ยังสู้น้ำไม่หยุด หลังลงพื้นที่ตรวจแนวป้องกันน้ำท่วมท่าเรือบางโพ ผู้ว่าฯกทม.ย้ำ มั่นใจแข็งแรงเพียงพอต่อการรับมือน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้ไหลท่วมบ้านเรือนประชาชน เผยเตรียมจัดสรรงบก่อสร้างแนวป้องกันถาวรแล้ว คาดเริ่มดำเนินการได้ปีหน้า ด้านพื้นที่กทม.ฝั่งตะวันตกต้องเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมวางแผนรับมือน้ำต่อไป ขณะพบปะเยี่ยมเยียนฝั่งกรุงเทพฯตะวันออกที่เป็นพื้นที่รับน้ำส่วนทิศเหนือเขตสายไหมประสานกรมชลฯ เร่งระบายน้ำลงคลอง
(16 ต.ค. 54) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมประเมินสถานการณ์น้ำในกรุงเทพฯ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ก่อนจะแถลงความคืบหน้าสถานการณ์น้ำ และการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นในช่วงบ่าย 13.30 น เดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์ณ ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพตะวันออก เขตมีนบุรี พร้อมทั้งเข้าไปเยี่ยมเยียนประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยนำถุงยังชีพ ยารักษาโรค และของใช้จำเป็นไปแจกจ่ายด้วย ทั้งนี้ในเวลา 13.30 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารจะได้เดินทางไปตรวจพื้นที่พร้อมมอบของช่วยเหลือผู้ประสบภัย
เสริมความแข็งแรงแนวป้องกันน้ำท่วมบริเวณท่าเรือบางโพ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือบางโพ เขตบางซื่อ วานนี้ (15 ต.ค.54) ซึ่งเป็นพื้นที่ของเอกชนที่ยังไม่มีการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวร ซึ่งหากไม่มีแนวป้องกัน น้ำจะไหลเข้าท่วมพื้นที่เขตบางซื่อ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนได้ ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครได้สร้างแนวป้องกันน้ำท่วมด้วยกระสอบทราย 30,000 ใบ และได้เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนแนวกระสอบทรายมีความสูง 2.80 ม. หนาประมาณ 2 ม. และยาวเต็มพื้นที่ 240 ม. นอกจากนี้ได้เสริมแผงกั้นคอนกรีตสำเร็จรูป (แบร์ริเออร์) จำนวน 100 แผง แล้วอัดแน่นด้วยดินเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของแนวป้องกันน้ำท่วมบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้คาดว่าจะมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าสู่บ้านเรือนประชาชนได้ โดยจะใช้แนวดังกล่าวไปจนกว่าจะก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมถาวรแล้วเสร็จ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างไว้แล้ว และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2555
ผลกระทบสถานการณ์น้ำด้านเหนือและตะวันออกของกทม.
สำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครขณะนี้ พบว่ามีจำนวน 641 ชุมชน ใน 20 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ,ดุสิต,พระนคร,สัมพันธวงศ์,สาทร,บางคอแหลม,ยานนาวา,คลองเตย,บางพลัด,บางกอกน้อย,ธนบุรี,คลองสาน,ราษฎร์บูรณะ,คลองสามวา,มีนบุรี,หนองจอก,ลาดกระบัง,สายไหม,คันนายาว และ ทวีวัฒนา รวม 41,485 ครัวเรือน ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นชุมชนนอกแนวป้องน้ำท่วม และชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ไม่ได้กระทบครอบคลุมทั่วทั้งเขตพื้นที่
สถานการณ์น้ำท่วมขังบริเวณตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร พื้นที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เขตดอนเมือง ช่วงประตูระบายน้ำคลองรังสิตเชื่อมคลองเปรมประชากร และพื้นที่เขตสายไหม บริเวณถนนเลียบคลองสองและคลองหก เนื่องจากน้ำเหนือไหลบ่าเข้าพื้นที่ อย่างไรก็ตาม กทม. ได้เสริมแนวกระสอบทราย ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และทำการติดตามเฝ้าระวังตลอด 24 ชม. โดยประสานกรมชลประทานอย่างใกล้ชิดในการเร่งระบายน้ำลงคลอง ด้านฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ( คลองสามวา มีนบุรี หนองจอก และลาดกระบัง ) พบว่า บริเวณจุดที่น้ำท่วมขัง ได้แก่ ตามถนนและชุมชนที่ตั้งอยู่ริมคลอง เนื่องจากพื้นที่ต่ำระดับน้ำในคลองท่วมสูง และมีฝนตกหนักในพื้นที่ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเสริมแนวกระสอบทรายทำคันดิน เปิดทางระบายน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รวมทั้งประสานกรมชลประทานลดระดับน้ำในคลอง และจัดรถทหาร รถขสมก. และเรือ เพื่อรับ-ส่งประชาชนในหมู่บ้านที่มีน้ำท่วมขังสูงประมาณ 20-40 ซม. นอกจากนี้กทม.ได้เข้าไปวางกระสอบทรายเป็นทางเดิน และได้ประสานกรมชลประทานเปิดประตูระบายน้ำ ในคลองประเวศน์บุรีรมย์เพิ่มด้วย
เฝ้าระวังพื้นที่ด้านตะวันตกและริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
สำหรับสถานการณ์น้ำด้านตะวันตก ( เขตทวีวัฒนา ) บริเวณจุดที่น้ำท่วมขัง ได้แก่ ชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ เนื่องจากการรั่วซึมตามแนวป้องกันริมคลองมหาสวัสดิ์และมีฝนตกหนัก ได้แก้ไขโดยดำเนินการเสริมแนวกระสอบทราย และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายออก นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความแข็งแรงของแนวกระสอบทรายชุมชนวัดปุรณาวาส ริมคลองมหาสวัสดิ์ เขตทวีวัฒนา พร้อมเฝ้าระวังตลอด 24 ชม. เนื่องจากระดับในคลองมหาสวัสดิ์ มีระดับ 1.91 เมตรสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่ยังต่ำกว่าคันกั้นน้ำ 89 ซม. อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับกองทัพเรืออุดรอยรั่วแนวคันกระสอบทรายบริเวณริมคลองทวีวัฒนาแล้ว และได้กำชับเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้การป้องกันน้ำในพื้นที่ตะวันตกล่วงหน้าทำได้ยาก เนื่องจากเป็นพื้นที่กว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณถนนพุทธมณฑลสาย 4 ต้องรอดูว่าน้ำจะโอบล้อมเข้ามาหรือไม่ และเข้ามาทางพื้นที่ใด จากนั้นกรุงเทพมหานครจะได้เตรียมการป้องกันถูก ซึ่งมั่นใจว่าน้ำที่จะท่วมเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าวไม่ทะลักเข้ามารวดเร็วอย่างเช่นในพื้นที่ต่างจังหวัดแน่นอน แต่จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ดังนั้นจึงทำให้กรุงเทพมหานครมีเวลาในการดำเนินการเตรียมการป้องกันและการอพยพ หากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นมาจริง
สำหรับบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองด้าน ( 27 ชุมชน 13 เขต ) บริเวณจุดที่น้ำท่วมขัง ได้แก่ บริเวณชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากเกิดน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน การรั่วซึมตามแนวป้องกันริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบกับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ได้ดำเนินการ เสริมแนวกระสอบทรายทำคันดิน เปิดทางระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พร้อมเฝ้าระวัง 24 ช.ม.
ศูนย์พักพิงกทม.รับผู้อพยพแล้ว 50 คน
เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ทำให้ประชาชนในชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมบางส่วน ได้ย้ายเข้าสู่ศูนย์พักพิงที่กทม.เตรียมไว้รองรับแล้ว 50 คน ณ ศูนย์พักพิงในพื้นที่ 3 เขต ได้แก่ เขตดุสิต โรงเรียนเทวราชกุญชร โรงเรียนราผาติการาม เขตสายไหม โรงเรียนซอยแอนเนกซ์ และ เขตลาดกระบัง โรงเรียนวัดทิพพาวาส โรงเรียนแสงหิรัญวิทยา และโรงเรียนวัดพลมานีย์ ทั้งนี้ กทม.ได้เตรียมศูนย์พักพิงไว้รองรับผู้ประสบภัย พร้อมจัดอุปกรณ์เครื่องนอน อาหาร ยารักษาโรค พร้อมนักสังคมสงเคราะห์มาช่วยดูแลด้านสภาพจิตใจ โดยใช้พื้นที่โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร 156 แห่ง โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 10 แห่ง ซึ่งจะสามารถรองรับผู้อพยพได้ 40,000-50,000 คน
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานหน่วยงานราชการอื่นที่ให้การอนุเคราะห์สถานที่อพยพ อาทิ ฐานทัพเรือ เขตบางกอกน้อย กองเรือเล็ก เขตบางกอกน้อย และสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เขตลาดกระบัง ซึ่งสามารถรองรับประชาชนในภาวะวิกฤติได้ จำนวน 1,000 คน
การแก้ไขและการให้ความช่วยเหลือ
ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 54 ถึงขณะนี้ กรุงเทพมหานครได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนจากประชาชนโทรสอบถามและขอความช่วยเหลือ ผ่านทางสายด่วน 1555 จำนวน 2,025 ราย ส่วนใหญ่เป็นการสอบถามข้อมูลพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และทึ่ตั้งศูนย์พักพิง รวมไปถึงการขอกระสอบทรายและความช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งได้ประสานให้สำนักงานเขตพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ อาทิ มอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้ว 14,312 ชุด มอบกระสอบทรายให้ประชาชนและใช้เป็นแนวป้องกันน้ำท่วม รวม 2.39 ล้านกระสอบ แจกจ่ายยาและเวชภัณฑ์ 1.08 แสน ชุด และตั้งโรงประกอบเลี้ยงอาหารที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ มีนบุรี และที่หมู่บ้านเมืองเอก ต.หลักหก จ.ปทุมธานี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น