ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

หน่วยงานกทม.ร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2555

(11 ต.ค. 54) เวลา 09.00 น. : นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งมอบนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้แก่หน่วยงานและส่วนราชการในสังกัด ซึ่งสำนักงานป้องกันและบำบัดยาเสพติด สำนักอนามัย กทม.จัดขึ้น จำนวน 2 รุ่นๆ ละ 1 วันทำการ ณ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย โดยรุ่นที่ 1 วันที่ 11 ต.ค. 54 ประกอบด้วย ผู้อำนวยการเขต ผู้แทนฝ่ายที่เกี่ยวข้องของสำนัก และสำนักงานเขต รวมจำนวน 174 คน รุ่นที่ 2 วันที่ 12 ต.ค. 54 ประกอบด้วย ผู้แทนฝ่ายที่เกี่ยวข้องของสำนักและสำนักงานเขต รวมจำนวน 160 คนเพื่อให้หน่วยงานและส่วนราชการได้รับทราบสถานการณ์ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูล กำหนดกรอบทิศทางการแก้ไขปัญหาของยาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ และร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ฯ ประจำปี 2555

ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์ พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด มีกลยุทธ์สำคัญ คือ 7 แผน 4 ปรับ 3 หลัก 6 เร่งโดยยึดหลักเมตตาธรรมรวมพลังทุกภาคส่วนเป็นพลังแผ่นดินในการต่อสู้กับ ปัญหายาเสพติด บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังด้วย หลักนิติธรรมยึดหลักเจ้าของพื้นที่เป็นเจ้าของปัญหา เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดเป็นรูปธรรม โดยกรุงเทพมหานคร ดำเนินการ 4 แผนหลัก ประกอบด้วย 1. การสร้างพลังสังคมและพลังชุมชนเอาชนะยาเสพติด 2. การแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด 3. การสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันยาเสพติด 4. การบริหารจัดการแบบบูรณาการ

สำหรับกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ใจกลางของประเทศ และมีปัญหาการค้า การแพร่ระบาดเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีสภาพเป็นพื้นที่การค้า พื้นที่กักเก็บ พื้นที่ลำเลียงผ่าน และพื้นที่แพร่ระบาด ตลอดจนมีสถานที่ซึ่งเอื้อต่อการกระจำผิดจำนวนมาก อาทิ สถานที่ที่เป็นแหล่งมั่วสุม และชุมชนแออัด โดยยาบ้ายังคงเป็นปัญหาหลักถึงร้อยละ 80 ซึ่งในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. - ก.ย.) กทม. มีผู้ต้องหาคดียาเสพติด ประมาณ 17,000 ราย ซึ่งภารกิจสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล คือ ลดปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในพื้นที่ ชักชวนผู้เสพเข้ารับการบำบัด รักษาให้ได้มากที่สุด และจับกุมผู้เสพเพื่อนำไปสู่การปราบปราม จับกุม และยึดทรัพย์สิน นอกจากนี้ให้ชักชวนผู้นำชุมชนและประชาชน เข้ามาเป็นพลังแผ่นดิน ร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังต่อไป

ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดจะต้องมีกลไกการทำงานขับเคลื่อนโดยการบูรณาการของทุกภาคส่วนในพื้นที่ อีกทั้งระดมทรัพยากรที่มีอยู่แก้ไขปัญหาอย่างเข้มข้น ซึ่งกทม.ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดเขต (ศตส.เขต) เป็นกลไกลในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ และเป็นกำลังสำคัญในการอำนวยการ ประสานงาน และวางแผนการปฏิบัติงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ตามสถานการณ์และเป้าหมายที่กำหนด ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับประชาชนและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงเพื่อลดจำนวนผู้เสพรายใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษาทุกแห่ง รวมทั้งขจัดปัจจัยเสี่ยงที่เอื้อต่อปัญหายาเสพติดให้หมดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น