ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

กทม. เปิดศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในฝั่งตะวันออก

(11 ต.ค. 54) เวลา 10.30 น. ณ ศาลาประชาคม สำนักงานเขตมีนบุรี : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย เนื่องจากกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกต้องรองรับน้ำเหนือจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และจังหวัดปทุมธานี และจากการคาดการณ์ในวันที่ 15-18 ต.ค. 54 จะมีฝนตกอย่างต่อเนื่องบวกกับปริมาณน้ำเหนือจะไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกเป็นจำนวนมาก

สำหรับพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกทม. ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม มีพื้นที่ประมาณ 450 ตร.กม. ครอบคลุมเขตหนองจอก คลองสามวา มีนบุรี และลาดกระบัง ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว มีสาเหตุหลักมาจากน้ำเหนือหลาก น้ำทะเลหนุน และฝนตกหนักในพื้นที่ กทม.จึงได้ดำเนินการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและระบบระบายน้ำให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของกรมชลประทาน เพื่อป้องกันน้ำจากภายนอกไหลเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยสร้างทำนบกั้นน้ำตามแนวคลองแยกคลองนครเนื่องเขต จำนวน 6 แห่ง สร้างทำนบกั้นน้ำตามแนวคลองแยกคลองหลวงแพ่ง จำนวน5 แห่ง พร้อมทำคันดินกั้นน้ำ สำหรับประตูระบายน้ำคลองแสนแสบ ตอนถนนประชาร่วมใจ จะใช้การปิดเปิดประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำ โดยระดับน้ำในคลองควบคุมไว้ที่ระดับ +0.50 ม.รทก. และระดับน้ำที่วิกฤต +0.90 ม.รทก. ส่วนระดับน้ำด้านนอกควบคุมที่ +1.20 ม.รทก. นอกจากนี้ยังได้ขุดลอกคลองระบายน้ำสายหลักตามแนวเหนือ-ใต้ ระหว่างคลองแสนแสบกับคลองประเวศบุรีรมย์ และคลองตามแนวตะวันออก และตะวันตก ส่วนสถานการณ์น้ำฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ในวันนี้ เวลา 08.00 น. ประตูระบายน้ำคลองแสนแสบมีนบุรี ระดับน้ำ 1.30 ม. สูงกว่าระดับควบคุม 40 ซม. ต้องเฝ้าระวังประตูระบาย คลองประเวศบุรีรมย์ ตอนลาดกระบังระดับน้ำ 0.79 ม. สูงกว่าระดับควบคุม 19 ซม. ต้องเฝ้าระวังเช่นเดียวกัน

ตรวจความพร้อมศูนย์พักพิงช่วยผู้ประสบอุทกภัยโรงเรียนมีนบุรี

จากนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เดินทางไปยังโรงเรียนมีนบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์พักพิงช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยทางสำนักงานเขตมีนบุรีได้จัดตั้งขึ้น จำนวน 10แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนมีนบุรี โรงเรียนบำเพ็ญเหนือ โรงเรียนแสนสุข โรงเรียนสุเหร่าบางชัน โรงเรียนคลองสองต้นนุ่น โรงเรียนศาลาคู้ โรงเรียนบ้านเกาะ โรงเรียนคลองสาม โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน และโรงเรียนวังเล็กวิทยานุสรณ์ โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ตรวจความพร้อมโดยเฉพาะอุปกรณ์ เครื่องนอน ผ้าห่ม ซึ่งทางโรงเรียนมีความพร้อม ในการรองรับประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยสามารถรองรับได้ จำนวน 500 คน นอกจากนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น มีห้องสุขา 50 ห้อง อาคารเอนกประสงค์ โรงครัว ฝ่ายสุขาภิบาล และฝ่ายดูแลรักษาความปลอดภัย

สถานการณ์น้ำสำนักงานเขตหนองจอก

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เขตหนองจอกขณะนี้มีน้ำเข้ามาในพื้นที่ค่อนข้างมากโดยเฉพาะน้ำที่เข้ามาตามคลองต่างๆ ได้เพิ่มระดับสูงขึ้นจนล้นแนวคลอง ทำให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตามแนวริมคลองถูกน้ำท่วม ประกอบกับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกในพื้นที่เขตตะวันออก ทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก ปัจจุบันนี้มีชุมชนที่ได้รับความเดือนร้อนทั้งสิ้น 73 ชุมชน จากชุมชนทั้งหมด 89 ชุมชน และหมู่บ้านเอกชนประมาณ 3 หมู่บ้าน แนวคลองที่ได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ แนวคลอง 9, คลอง 10, คลอง 11, คลอง 14 และตามบริเวณคลองแยกต่างๆ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ได้แก่ ถนนได้รับความเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ เช่น ถนนสังฆประชา ถนนเลียบคลองสิบสาม ถนนเลียบคลองอู่ตะเภา

ทั้งนี้สำนักงานเขตได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นแล้ว อาทิ สนับสนุนกระสอบทรายพร้อมทรายจำนวนประมาณ 500,000 กระสอบ ทำสะพานไม้ความยาวประมาณ 500 เมตร แจกถุงยังชีพจำนวน 1,089 ถุง ให้เงินช่วยเหลือจำนวน 65 หลังคาเรือน ติดตั้งตู้สุขาไฟเบอร์จำนวน 18 ตู้จำนวน 10 ชุมชน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 12 เครื่อง แจกยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้ศูนย์ก่อสร้างและบูรณะถนน 1 ยังได้ดำเนินการซ่อมถนนสังฆประชา บริเวณวัดลำผักชีและ สนับสนุนรถบรรทุกขนทรายจำนวน 5 คัน และได้รับการสนับสนุนถุงดำจากสำนักสิ่งแวดล้อม จำนวน 5,000 ถุง

สถานการณ์น้ำสำนักงานเขตลาดกระบัง

พื้นที่น้ำท่วม จำนวน 30 จุด แบ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก (จุดอ่อนน้ำท่วม) จำนวน 28 จุด ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 42 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม 2 จุด (2 เครื่อง) ได้แก่ บริเวณถนนคุ้มเกล้าฝั่งเหนือ และบริเวณถนนคุ้มเกล้าฝั่งใต้

การดำเนินการแก้ไขของเขต สำนักงานเขตได้ดำเนินการนำกระสอบทรายไปใช้อุดกั้นท่อระบายน้ำ วางแนวเป็นคันกั้นน้ำ และเรียงเป็นทางเดินให้ประชาชน รวมทั้งได้แจกให้ประชาชนที่มาขอรับเพื่อป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมชุมชนและบ้านส่วนหนึ่ง ดำเนินการจัดทำทางเดินชั่วคราว 1 จุด 25 เมตร (คันดิน/สะพานไม้) การแจกจ่ายยากันน้ำกัดเท้า การเตรียมถุงยังชีพ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวกด้านจราจร และให้ความช่วยเหลือกรณีรถเสียเนื่องจากน้ำท่วม จัดตู้สุขาเคลื่อนที่บริการประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม และจัดเตรียมสถานที่อพยพ สำหรับเป็นที่พักชั่วคราวแก่ผู้ประสบอุทกภัย โดยใช้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตลาดกระบัง จำนวน 20 แห่ง

สถานการณ์น้ำสำนักงานเขตมีนบุรี

สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่เขตมีนบุรีในปัจจุบัน มีดังนี้ แขวงแสนแสบ จำนวน 9 แห่ง หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จำนวน 10 หมู่บ้าน ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 35 ชุมชน และนอกชุมชน 2 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 3,637 ครอบครัว พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย จำนวน 1,390 ไร่ 3 งาน 66 ตารางวา จำนวนเกษตรกร 194 ราย

การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เขตได้ดำเนินการไปแล้ว ประกอบด้วย แจกจ่ายถุงยังชีพ เวชภัณฑ์ แจกวัสดุป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อใช้ทำคันกั้นน้ำ ได้แก่ กระสอบทราย ทราย ทำสะพานไม้ชั่วคราว และติดตั้งเครื่องสูบน้ำพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง 23 เครื่อง นอกจากนี้ได้สำรวจและประเมินความเสียหายด้านเกษตรกรรม เพื่อขอรับค่าชดเชยจากกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ตามระเบียบ หลักเกณฑ์ ออกหนังสือรับรองให้แก่เกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตร เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากกรุงเทพมหานคร โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งได้การจัดเตรียมที่พักชั่วคราวของผู้ประสบภัย จำนวน 20 แห่ง

สถานการณ์สำนักงานเขตคลองสามวา

สำนักงานเขตคลองสามวา ได้จัดศูนย์พักพิงไว้รองรับผู้ประสบภัย จำนวน 18 จุด โดยสำนักงานเขตได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ เต็นท์ จากสำนักการโยธา สุขาเคลื่อนที่, ถุงบรรจุสิ่งปฏิกูลและขยะมูลฝอย จากสำนักสิ่งแวดล้อม เครื่องนอน (เสื่อ, หมอน, มุ้ง) จากสำนักพัฒนาสังคม แท็งค์น้ำดื่ม จากสำนักสิ่งแวดล้อม ยาเวชภัณฑ์ จากสำนักอนามัย อุปกรณ์ทำครัว และถ้วยชาม จากวัด มัสยิดในพื้นที่ และฟาง หญ้าแห้ง สำหรับสัตว์เลี้ยง จากกรมปศุสัตว์ นอกจากนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์จากหน่วยงานภาคเอกชนในการอนุญาตให้ประชาชนนำรถเข้าไปจอดได้ อาทิ สนามกอล์ฟปัญญา ที่จอดรถห้างสรรพสินค้า แฟชั่นไอส์แลนด์ สวนสัตว์ซาฟารีเวิลด์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น