ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เร่งจัดเก็บขยะไม่ให้ตกค้าง และแจกจุลินทรีย์ให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด

นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการจัดเก็บขยะใหนพื้นที่กทม. 50 เขต เมื่อวันที่ 20 พ.ย. จัดเก็บได้ 7,473 ตัน คิดเป็น 87.92% ของปริมาณขยะในสภาวะปกติ 8,500 ตัน โดยศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม กำจัดโดยวิธีฝังกลบ รวม 2,068 ตัน ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช กำจัดโดยวิธีฝังกลบ 4,361 ตัน และหมักทำปุ๋ย 1,044 ตัน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 5,405 ตัน ทั้งนี้ภายหลังน้ำลดในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ประชาชนเริ่มทยอยเข้าบ้าน พร้อมทั้งทำความสะอาดบ้านเรือนและนำสิ่งของซึ่งถูกน้ำท่วมภายในบ้านมาทิ้งเพิ่มเติม ส่งผลให้ปริมาณขยะในการจัดเก็บเพิ่มสูงขึ้น แต่กทม. จะเร่งดำเนินจัดเก็บให้มากที่สุดและเร็วที่สุด

ส่วนปริมาณการจัดเก็บขยะของ 25 เขตน้ำท่วมขังมีการจ้างอาสาสมัครชักลากขยะ 25 เขตมีจำนวนอาสาสมัคร 915 คน โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ย. จัดเก็บได้ 3,379 ตัน คิดเป็น 78.4% ของปริมาณขยะในสภาวะปกติ 4,313 ตัน ทั้งนี้เขตที่จัดเก็บขยะได้น้อยกว่า 50% มีจำนวน 5 เขต ประกอบด้วย สายไหม ทวีวัฒนา หนองแขม ดอนเมือง และบางแค เนื่องจากระดับน้ำในพื้นที่ยังท่วมสูง นอกจากนี้กทม. ได้ดำเนินการบำบัดกลิ่นและน้ำเสีย โดยฉีดพ่นจุลินทรีย์ปริมาณ 12,000 ลิตรที่เขตบางแค และวันที่ 22 พ.ย. จะดำเนินการในพื้นที่เขตพญาไท ทั้งนี้ประชาชนยังสามารถขอรับน้ำจุลินทรีย์เรือนเพาะชำที่สวนลุมพินีได้ตลอด แต่จำเป็นต้องนำภาชนะมาบรรจุด้วยตนเอง นอกจากนี้สำนักงานเขตยังมีถังน้ำอีเอ็มซึ่งประชาชนสามารถนำภาชนะไปบรรจุได้เลย

โฆษกกทม. กล่าวด้วยว่า ผู้ว่าฯกทม. ย้ำให้ทุกพื้นที่จัดเก็บขยะให้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้มีขยะตกค้างในพื้นที่ ไม่เช่นนั้นจะเก็บไม่ทัน อีกทั้งแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในพื้นที่ที่มีท่วมขังเกิน 1 สัปดาห์โดยเร่งด่วน โดยนำจุลินทรีย์น้ำไปฉีดพุ่นในพื้นที่พร้อมทั้งแจกจ่ายให้กับประชาชนเพื่อบำบัดน้ำเสียในบ้านของตนเองอย่างทั่วถึง เนื่องจากหากดำเนินการภายหลังน้ำลดจะแก้ไขปัญหาได้ยากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังกำชับหน่วยงานเร่งหาวิธีเยียวยาเพิ่มเติมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังระดับสูงและยาวนานอย่างเป็นธรรม

สำหรับปัญหาสำคัญอีกประการ คือ ปัญหายุงชุม ซึ่งจำเป็นต้องเร่งกำจัดนั้น กทม. ได้มอบหมายให้นายพีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหนคร และสำนักอนามัยกทม. หารือถึงวิธีการที่เหมาะสม และหากจำเป็นต้องใช้วิธีการฉีดพ่นหมอกควันเพื่อกำจัดยุงตัวแก่ ก็ขอให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบอย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนและสัตว์เลี้ยงหลีกเลี่ยงการสูดกลิ่นควันซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและปกปิดทรัพย์สินไม่ให้มีกลิ่นควันติดตามทรัพย์สินด้วย รวมถึงดูแล 4 โรคอันตรายที่มากับน้ำท่วมขัง ได้แก่ โรคฉี่หนู โรคท้องเดิน ไข้หวัด และไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น