ผู้ว่าฯกทม. ตรวจน้ำท่วมเขตสายไหม สั่งเปิดปตร.คลองพระยาสุเรนทร์ ที่ระดับ 1.05 เมตร รับน้ำจากคลองหกวาสายล่าง ตั้งแต่ 17.00 น. วานนี้ ประเมินสถานการณ์น้ำภายใน 24 ชม. พร้อมเตรียมหารือร่วมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทาง แก้ไขร่วมกัน
(18 พ.ย. 54) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำในพื้นที่เขตสายไหม บริเวณถนนสุขาภิบาล 5 ซึ่งตลอดเส้นทางระดับน้ำเริ่มลดลงอยู่ที่ประมาณ 30-50 ซม. จากนั้นตรวจประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครเปิดประตูระบายน้ำที่ระดับ 1.05 เมตร ตั้งแต่เวลา 17.00 น. วานนี้ เพื่อระบายน้ำที่รับมาจากคลองหกวาสายล่าง ตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านจังหวัดปทุมธานีที่บุกรื้อกระสอบทรายคลองหกวาสายล่างเมื่อวานนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ อปพร. กทม. และเขตสายไหมดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม. จากนั้นเดินทางไปยังคลองหกวาสายล่างจุดที่มีการรื้อกระสอบทรายเมื่อวานนี้ (17 พ.ย. 54) โดยมีชาวบ้านเขตสายไหมเข้าร้องเรียนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ต้องการให้มีการรื้อกระสอบทรายเนื่องจากจะทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนอย่างฉับพลันสร้างความเสียหายอย่างหนัก พร้อมขอให้กรุงเทพมหานครช่วยเหลือในด้านต่างๆ
ผู้ว่าฯกทม. ได้ชี้แจงกับชาวสายไหมว่า กรุงเทพมหานครและรัฐบาลมีความเห็นตรงกันที่จะไม่ให้มีการรื้อกระสอบทราย ซึ่งการจะรื้อหรือปรับแนวกระสอบทราย คันกั้นน้ำที่ทางราชการสร้างขึ้น จะต้องมีการหารือร่วมกัน โดยต้องดำเนินการภายใต้เหตุและผล ทั้งนี้การเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ที่ระดับ 1.05 เมตร และผลของการรื้อกระสอบทรายที่คลองหกวาสายล่าง เขตสายไหมนั้น ต้องใช้เวลาในการประเมินสถานการณ์ 24 ชั่วโมง ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (19 พ.ย. 54) จะได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปสถานการณ์ผลกระทบและแนวทางในการแก้ไขร่วมกัน โดยจะมอบหมายให้ผู้แทนฝ่ายข้าราชการประจำไปประชุมแทน เนื่องจากไม่ต้องการให้ประชาชนคิดว่าเป็นการเข้าข้างเฉพาะคนกรุงเทพฯ เพราะตนก็มีความเป็นห่วงประชาชนในต่างจังหวัดเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามก็จะต้องดูแลคนในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างเต็มที่
------------------
ผู้ว่าฯกทม. ขอกำลังตำรวจนครบาลดูแลการซ่อมคันกั้นน้ำในเขตสายไหมโดยด่วน
(17 พ.ย. 54) เวลา 20.00 น. : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงว่า เย็นวันที่ 17 พ.ย. 54 ตนได้ลงนามในคำสั่งกรุงเทพมหานคร 2 ฉบับ โดยฉบับแรกให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันมิให้ประชาชนเข้าไปทำลายแนวกระสอบทรายที่เป็นคันกั้นน้ำชั่วคราว และประตูระบายน้ำในพื้นที่เขตสายไหม ที่กรุงเทพมหานครดำเนินการไว้โดยด่วนที่สุด รวมทั้งจัดกำลังเจ้าหน้าที่คุ้มครองดูแลความปลอดภัยให้แก่เจ้าหน้าที่ของกทม. ที่จะเข้าไปดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมแนวคันที่ถูกรื้อ ส่วนฉบับที่ 2 สั่งห้ามมิให้บุคคลใด ๆ เข้าไปในพื้นที่ทำลายคันกั้นน้ำชั่วคราวและประตูระบายน้ำในพื้นที่เขตสายไหม บริเวณคลองหกวาสายล่าง คลองสอง และคลองพระยาสุเรนทร์
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาที่คันกั้นน้ำในสองพื้นที่ คือ จุดพหลโยธินซึ่งขณะนี้เปิดกว้างประมาณ 5 เมตร ประเมินสถานการณ์ว่าจะทำให้น้ำเข้าพื้นที่ด้านใน 4 แสน ลบ.ม./วัน จะเกิดผลกระทบต่อคลองสอง สนามบินดอนเมือง และถนนวิภาวดี-รังสิต โดยจะมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 20 ซม. ขึ้นไป ในเรื่องนี้กทม. จะติดตามต่อไปว่าการเปิดคันกั้นน้ำจะเป็นส่งกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในอย่างไร ส่วนจุดที่น่าเป็นห่วงมาก คือ จุดที่มีการปรับสภาพคันกั้นน้ำและระบบบริหารจัดการน้ำ ที่คลองสอง คลองหกวาสายล่าง และประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ เนื่องจากมีประชาชนจากปทุมธานีจำนวนหนึ่งเข้ารื้อคันกันน้ำเป็นระยะทางยาว 70 เมตร กทม.จึงได้ส่งรองปลัดกทม. 2 คน คือ นายสมภพ ระงับทุกข์ และนายจุมพล สำเภาพล เข้าไปเจรจากับชาวบ้าน ซึ่งมีข้อตกลง 3 ประการ ได้แก่ 1. กทม. พร้อมที่จะเปิดประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ เป็น 1 เมตร เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ผ่านมา และตกลงกันว่าจะปิดอีกครั้งในเวลา 12.00 น. ในเสาร์นี้ 2. ลดระดับคันกั้นน้ำให้มีส่วนต่างระหว่างด้านนอกและด้านในคันกั้นน้ำห่างกัน 40 ซม. จากเดิม 70 ซม. ซึ่งขณะยังมีไม่ข้อสรุป และ 3. ข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ต้องการให้เยียวยาเป็นพิเศษ ทางกทม. ได้เสนอ ศปภ. ไปเรียบร้อยแล้ว
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ตนได้หารือร่วมกับ พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก อย่างใกล้ชิดทางโทรศัพท์ โดยมีจุดยืนร่วมกันว่าจะต้องไม่มีการปรับสภาพคันกั้นน้ำ หรือกลไกที่จะบริหารจัดการน้ำโดยพลการ หากจะมีการปรับสภาพคันกั้นน้ำ หรือการเปิดปิดกว้างขึ้นหรือแคบลง ต้องเกิดจากการหารือเป็นมติร่วมกันเท่านั้น โดย พล.ต.อ.ประชา ได้ประสานขอให้กองทัพ และ บชน. เข้าไปดูแลสถานการณ์ โดยผู้ว่าฯกทม. ได้มีคำสั่งที่ 4386/2554 อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ให้บช.น. สั่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลความเรียบร้อยและคุ้มกันเจ้าหน้าที่เข้าไปซ่อมแซมคันกั้นน้ำชั่วคราวและประตูระบายน้ำในพื้นที่เขตสายไหม โดยการรื้อคันกั้นน้ำเป็นดังกล่าว เป็นระยะทาง 70 เมตร เป็นการรื้อในจุดที่ต่ำสุด มีผลให้มีน้ำปริมาณ 4 ล้าน ลบ.ม. ต่อวันเข้าไปในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมบางชัน และเกินความสามารถในการระบายน้ำออกของกทม.
ผู้ว่าฯกทม. กล่าวด้วยว่า สถานการณ์จุดดังกล่าวค่อนข้างล่อแหลมและอันตราย เนื่องจากมีประชาชนชาวกทม. เข้าไปซ่อมแซมคันกั้นน้ำเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันตนเอง แต่ไม่อยากให้การกระทำดังกล่าวนำไปสู่การปะทะกันระหว่างพี่น้องชาวปทุมธานี และพี่น้องชาวกทม. ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปดูแลแล้ว ขณะเดียวกันกทม. ได้ส่งเจ้าหน้าที่สำนักการะบายน้ำเข้าไปประเมินและแก้ไขสถานการณ์ด้วย
“ถ้ามีความเดือนร้อน หรือความต้องการอย่างไร วิธีการที่ดีที่สุดขณะนี้ คือ การเจรจาหาทางออกร่วมกัน ที่ผ่านมามีการให้ข่าวว่า กทม. ไม่ทำตามสัญญาเรื่องไม่ยอมเปิดปตร.คลองพระยาสุเรนทร์ 1 เมตร ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยผมยืนยันว่า กทม. ยังคงเปิดประตูระบายน้ำตามสัญญา แม้ว่ากทม. จะสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายในการหรี่ประตูระบายน้ำให้แคบลง แต่ผมก็ไม่ได้ใช้อำนาจนั้นแต่อย่างใด”
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวพร้อมทั้งย้ำว่า อย่างไรก็ตามหลังจากการประเมินหากการเปิดคันกั้นน้ำจะส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมบางชัน และบ้านเรือนของประชาชนด้านตะวันออกอีกจำนวนมากก็จำเป็นจะต้องหรี่ประตูระบายน้ำให้แคบลง เพราะการกระทบของนิคมฯ ไม่ได้ส่งผลแค่ในพื้นที่กทม. และชาวกทม. เท่านั้น แต่จะกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนชาวไทยอีกจำนวนมากที่จะต้องตกงาน เนื่องจากการปิดนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งการที่ตนชี้ให้เห็นปัญหานี้ไม่ได้เป็นการท้าทายแต่อย่างใด แต่เป็นจุดยืนที่ศปภ. และกทม. จะต้องมีร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้
------------------
ผู้ว่าฯกทม. กำชับเขตลดขั้นตอนจ่ายเงินเยียวยา
(17 พ.ย. 54) เวลา 14.30 น. : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารสำนักงานเขตบางขุนเทียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมบริเวณถนนพระราม 2 ซอย 69 ภายหลังที่กรุงเทพมหานครได้ประกาศให้เป็นพื้นที่อพยพ โดยตลอดทั้งซอยมีระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 60-80 ซม. แต่ขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50 ซม. โดยกรุงเทพมหานครได้เร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ หากไม่มีน้ำใหม่เข้ามาเพิ่มเติม คาดว่าน้ำจะลดลงภายใน 2 สัปดาห์ นอกจากนี้สำนักงานเขตบางขุนเทียนได้สร้างสะพานไม้ชั่วคราว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทาง แต่ยังมีประชาชนบางส่วนใช้เรือในการสัญจร จากนั้นคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้อพยพที่โรงเรียนบางขุนเทียนศึกษา และศูนย์พักพิงศูนย์เยาวชนบางขุนเทียน ซึ่งเป็นศูนย์พักพิงที่กรุงเทพมหานครได้จัดไว้ โดยได้นำอาหารและน้ำดื่มมามอบให้แก่ผู้อพยพ ซึ่งผู้อพยพส่วนใหญ่จะมาเป็นครอบครัว โดยมีอาจารย์ในโรงเรียนเป็นผู้ดูแล และมีการทำอาหารเลี้ยงทั้ง 3 มื้อ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครัวเรือนละ 5,000 บาทนั้น ได้กำชับให้ผู้อำนวยการเขต อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมถึงลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นออกไป โดยเฉพาะเอกสารและรายละเอียดต่างๆ ที่นำมาประกอบการยื่นคำร้องนั้น ไม่จำเป็นต้องนำรูปถ่ายมาแสดง หรือต้องมีผู้เซ็นรับรองในกรณีที่เป็นเจ้าบ้าน แต่หากประชาชนมีหลักฐานไม่ชัดเจน ผู้อำนวยการเขตสามารถเรียกเก็บเอกสารเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตามวันที่ 20 ธ.ค. นี้ ประชาชนสามารถรับเงินเยียวยาได้เป็นวันแรก ทั้งนี้กรุงเทพมหานครไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการยื่นขอรับเงินเยียวยา เนื่องจากหลายพื้นที่ยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้เตรียมพิจารณายกร่างให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมกับประชาชนกรุงเทพมหานคร อีกครัวเรือนละ 1,500 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางและเงื่อนไขต่างๆ หากมีความชัดเจนแล้ว จะแจ้งให้ประชาชนได้ทราบอีกครั้ง สำหรับการยกเลิกประกาศอพยพในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ไม่จำเป็นต้องยกเลิกการประกาศ เพราะเมื่อน้ำแห้งแล้วประชาชนก็จะกลับเข้าบ้านของตนเองเพื่อเข้าไปดูบ้านอยู่แล้ว
------------------
สภากทม. เสนอผู้อำนวยการเขต ควรมาจากการเลือกตั้ง ชี้ช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้รวดเร็วขึ้น
สภากทม. กระทุ้งผู้บริหารแก้ปัญหาน้ำท่วมและให้ความช่วยเหลือประชาชนล้มเหลว เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 ให้ผู้อำนวยการเขตควรมาจากการเลือกตั้งได้ ชี้สามารถแก้ไขปัญหาและตัดสินใจได้เอง ย้ำสภาทม. พร้อมผลักดันให้กทม. มีการบริหารงานที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
(18 พ.ย. 54) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากปัญหาการแก้ไขน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากสภาพความเป็นจริงในการแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมมีความล่าช้า รวมทั้งยังเกิดปัญหาในการประสานงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกซึ่งจะต้องรอการอนุมัติจากผู้บริหารกรุงเทพมหานครในการตัดสินใจต่างๆ ทั้งนี้ตั้งข้อสังเกตถึงความล่าช้าในการปฏิบัติงานซึ่งจะต้องมีการบริหารที่รวดเร็วและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ควรมีการกระจายอำนาจไปสู่ระดับท้องถิ่น โดยให้ 50 สำนักงานเขต สามารถบริหารงานและตัดสินใจในการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้เอง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้
ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มว่า สภากรุงเทพมหานครได้มีการเสนอให้กรุงเทพมหานครแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 มีทั้งหมด 2 รูปแบบ ที่สภากรุงเทพมหานครได้ร่วมกันอภิปรายและเสนอการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่การบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับรัฐบาล คือ รูปแบบที่ 1 เสนอแบ่งโซนเขตปกครอง อาทิ กรุงเทพฯ ชั้นนอก กรุงเทพฯ ชั้นกลาง กรุงเทพฯ ชั้นใน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการ ซึ่งแต่ละกลุ่มเขตสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น รวมทั้งขอการสนับสนุนจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งถือเป็นผู้บริหารสูงสุดอีกด้วย รูปแบบที่ 2 คือ ตำแหน่งผู้อำนวยการเขต 50 เขต ควรมาจากการเลือกตั้งแทนการแต่งตั้ง โดยผู้อำนวยการเขตถือเป็นฝ่ายบริหาร มีความจำเป็นอย่างมากในการพิจารณาและตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน ทั้งยังตั้งข้อสังเกตปัญหาของผู้อำนวยการเขตในขณะนี้ เนื่องจากมีการแต่งตั้งและโยกย้ายบ่อยทำให้ขาดความต่อเนื่องในการบริหารงานในพื้นที่ ทั้งนี้จากการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของสำนักงานเขตที่ผ่านมาถือว่ามีระบบการบริหารงานที่ล้มเหลวในการดูแลประชาชน มีความล่าช้าในการแก้ไขปัญหา ขาดหลักความเข้าใจในการปฏิบัติงานเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบในการให้ความช่วยเหลือทั้งแผนอพยพและศูนย์พักพิงต่างๆที่ได้กำหนดไว้ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจในมาตรการของสำนักงานเขต ทั้งนี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขตถือเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าหากกรุงเทพมหานครสามารถกระจายอำนาจให้ผู้อำนวยการเขตซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายบริหารสามารถมาจากการเลือกตั้งได้ จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและเป็นประโยชน์กับกรุงเทพมหานครสูงสุดอีกด้วย
ทั้งนี้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 ควรได้รับการแก้ไขเพื่อให้เป็นปัจจุบันและเข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองเพื่อให้การบริหารงานของกรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ทั้งนี้การพิจารณาปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร 2528 จะต้องผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป
------------------
สภากทม. แนะเขตเร่งส่งเจ้าหน้าที่สำรวจผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม
(18 พ.ย. 54) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี ฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สภากทม. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กทม. ขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตถึงนโยบายการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบว่า สำนักงานเขตควรส่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเร่งสำรวจบ้านพักอาศัยที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงควรมีที่ทำการเขตชั่วคราวหากเขตได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม อีกทั้งควรประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อให้รับทราบถึงการให้ความช่วยเหลือจากหน่วยงานในขณะนี้
ชี้กทม. ควรกระจายอำนาจไปสู่ระดับท้องถิ่น
ประธานคณะกรรมการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม กล่าวเพิ่มว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของสำนักงานเขต รวมทั้งการเยียวยาประชาชนที่ผ่านมา พบว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือได้เท่าที่ควร เนื่องจากความล่าช้าในการจัดซื้อตามระเบียบของหน่วยงาน รวมทั้งต้องรอการอนุมัติจากผู้บริหารระดับสูง จากปัญหาดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่ากรุงเทพมหานครควรบูรณาการในการกระจายอำนาจไปสู่ระดับท้องถิ่น โดยให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตปกครองสามารถบริหารจัดการและตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญและเข้าใจปัญหาในพื้นที่มากกว่าผู้บริหาร ซึ่งจะสามารถให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาได้ทันที ทั้งนี้ควรให้ผู้อำนวยการเขตมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อความรวดเร็วในทำงานร่วมกับหน่วยงานและสามารถแก้ไขปัญหาตามนโยบายได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
------------------
สภากทม. ประชุมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฝั่งตะวันตก
(17 พ. ย. 54) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานสภากรุงเทพมหานคร พร้อมสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขตจอมทอง เขตบางบอน เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ เขตธนบุรี กองบังคับการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจนครบาลบางมด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ประชุมเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก ณ ห้องประชุม สำนักงานเขตบางขุนเทียน
ประธานสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันตก บริเวณถนนพระราม 2 ร่วมกับหน่วยงานภายและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยที่ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาและรวมทั้งทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เพื่อให้รับทราบถึงแนวทางการแก้ไข ซี่งขณะนี้สำนักการระบายน้ำได้เริ่มเดินเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำคลองระหาญ อยู่ระหว่างคลองระหาญและคลองสนามชัย เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทย ทั้งการสูบน้ำจากคลองระหาญ จะช่วยระบายน้ำภายในคลองย่อย ในเขตบางขุนเทียน ซึ่งจะทำให้น้ำที่ท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯฝั่งตะวันตกมีระดับน้ำลดลงได้ นอกจากนี้ประธานสภากรุงเทพมหานครยังได้มีการประสานไปยังทหารช่างช่วยขุดลอกคูคลองย่อย และคลองหลักร่วมกับสำนักระบายน้ำ กทม. เพื่อให้น้ำไหลผ่านคลองได้ดีขึ้น
โดยสถานการณ์ล่าสุดเมื่อเวลา 11.00 น. กทม. ได้ประกาศให้ประชาชนพื้นที่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน บริเวณถนนบางขุนเทียนตั้งแต่แยกถนนพระรามที่ 2 ถึงทางรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในซอยต่างๆ ของถนนบางขุนเทียน ทั้งนี้ได้หารือกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและสำนักงานเขตบางขุนเทียนเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งประสานทหารและตำรวจที่ดูแลในพื้นที่เขตบางขุนเทียนสนับสนุนรถขนาดใหญ่และเรือให้ความสะดวกกับประชาชนโดยเร่งด่วน พร้อมกันนี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครจะลงพื้นที่เพื่อมอบถุงยังชีพและส้วมบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป
------------------
เขตราษฎร์บูรณะเปิดรับสมัครบุคคลเป็นอาสาสมัคร
นางฉัฐนันท์ อินทราชา ผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ กทม. แจ้งว่า สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะดำเนินการรับสมัครบุคคลเป็นอาสาสมัครประจำสังกัดฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมในตำแหน่งต่างๆ รวม 6 อัตรา ได้แก่ ตำแหน่งอาสาสมัครเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านพัฒนาสังคม จำนวน 1 อัตรา ตำแหน่งอาสาสมัครช่วยงานสังคมสงเคราะห์ จำนวน 1 อัตรา ตำแหน่งอาสาสมัครลานกีฬา จำนวน 3 อัตรา และตำแหน่งอาสาสมัครพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จำนวน 1 อัตรา ผู้สนใจสามารถขอและยื่นใบสมัครได้ที่ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ ระหว่างวันที่ 8–28 ธ.ค. 54 ในวันและเวลาราชการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 2428 4884 ต่อ 6837, 6838
------------------
พระโขนงเพิ่มมาตรการคุ้มครองดูแลผู้ให้ข้อมูลการทุจริต
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ผู้อำนวยการเขตพระโขนง กทม. แจ้งว่า เขตฯ ได้มอบนโยบายให้ข้าราชการลูกจ้าง และข้าราชการครูกรุงเทพมหานครที่สังกัดสำนักงานเขตพระโขนง ให้นำมาตรการคุ้มครองดูแลแก่ผู้ให้ข้อมูลการทุจริตที่ถูกคุกคาม หรือถูกบิดเบือนผลการให้ข้อมูลการทุจริต หรือถูกร้องเรียน อย่างไม่เป็นธรรม ในการแจ้งการทุจริตประพฤติมิชอบต่างๆ ของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ที่ปลัดกรุงเทพมหานครได้โปรดสั่งการ มาถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของหน่วยงานเพิ่มมากขึ้น จึงขอแจ้งให้ประชาชนที่พบเห็นการทุจริตประพฤติมิชอบของข้าราชการ ลูกจ้าง และข้าราชการครูกรุงเทพมหานคร ที่สังกัดสำนักงานเขตพระโขนง โปรดแจ้งเบาะแสได้ที่ สำนักงานเขตพระโขนง โทร. 0 2333 0964 หรือ โทร. 0 2311 2064 ต่อ 6508
------------------
ผอ.เขตบางแค แจ้งขั้นตอนยื่นคำร้องรับเงินช่วยน้ำท่วม 5 พัน
นางกองกาญจน์ สุบรรณ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเขตบางแค กทม. แจ้งว่า ตามที่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือนละ 5,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตระหว่างที่กำลังฟื้นฟูสภาพความเสียหาย และยังไม่สามารถประกอบอาชีพเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว โดยให้ยื่นคำร้องเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือได้ ณ สำนักงานเขตบางแค ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 23 พ.ย. 54 โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ สำหรับหลักฐานประกอบการแจ้งสิทธิเพื่อรับเงินช่วยเหลือ ได้แก่ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่ายบ้านน้ำท่วม (ถ้ามี) กรณีเจ้าบ้านไม่สามารถมายื่นด้วยตนเอง ดังนี้ หนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านและผู้รับมอบ สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าบ้านและผู้รับมอบ รูปถ่ายบ้านน้ำท่วม (ถ้ามี) กรณีเป็นบ้านเช่าอยู่อาศัย หนังสือสัญญาเช่า หรือหนังสือรับรองของผู้ให้เช่า สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ให้เช่าและผู้เช่า สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ให้เช่าและผู้เช่า รูปถ่ายบ้านน้ำท่วม (ถ้ามี) กรณีบ้านไม่มีเลขที่ หนังสือรับรองของประธานชุมชนหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือ (เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบก่อนออกหนังสือรับรอง) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับรองและผู้ยื่นคำร้อง สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับรองและผู้ยื่นคำร้อง รูปถ่ายบ้านน้ำท่วม (ถ้ามี) กรณีห้องเช่า คอนโดมิเนียม หรืออพาร์ตเม้นท์ ยื่นคำร้องเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือได้เฉพาะชั้นที่น้ำท่วมถึงเท่านั้น
โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำร้องขอรับการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย (น้ำท่วม) คำรับรอง และหนังสือมอบอำนาจ ได้ทางเว็บไซต์ http://www.bangkok.go.th/bangkhae และ http://office.bangkok.go.th/bangkhae หรือสอบถามโทร. 08 2440 2624-5
------------------
สรุปข่าวบริการสำนักงานเขต
สำนักงานเขตต่างๆ ของกรุงเทพมหานครพร้อมบริการทุ่มเทการทำงาน เพื่อสร้างความสุขให้แก่ประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ดังนี้
เขตสาทร น.ส.พรรณทิพา งามญาณ ผู้อำนวยการเขตสาทร กทม. แจ้งว่า เขตฯ โดยฝ่ายสิ่งแวดล้อมฯ ร่วมกับฝ่ายเทศกิจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรกลาง กรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กำหนดตรวจวัดรถควันดำ ในวันที่ 22, 24 พ.ย. เวลา 10.00–14.00 น. ณ บริเวณจุดตรวจหน้าโรงเรียนเซนต์หลุยส์ศึกษา ถ.สาทรใต้
เขตราษฎร์บูรณะ นางรัสยาภรณ์ นครสุต ผู้อำนวยการเขตราษฎร์บูรณะ กทม. แจ้งว่า คณะผู้บริหารเขตร่วมออกตรวจพื้นที่ เพื่อตรวจดูความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด และเพื่อรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนทำการแก้ไขปัญหาที่พบเห็นทันที เขตฯ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบทั่วกัน หากท่านใดมีปัญหาเดือดร้อนหรือพบเห็นเหตุรำคาญ โทร. 0 2428 2789 เพื่อเขตฯ จะได้ออกตรวจจุดที่มีปัญหาดังกล่าว และเร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
เขตคลองเตย นายสมชีพ ไชยเขตต์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. แจ้งว่า เขตฯ ได้ดำเนินการรณรงค์พัฒนาความสะอาดสะพานลอยเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เวลา 10.00–12.00 น. สำหรับในวันที่ 22 พ.ย. 54 จะดำเนินการพัฒนาความสะอาดสะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ถ.พระราม 4 และวันที่ 24 พ.ย. 54 บริเวณสะพานลอยแยกกล้วยน้ำไท ถ.พระราม 4
------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น