ค้นหาบล็อกนี้

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

โฆษกกทม. เผยมีผู้แอบอ้างเปิดประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์โดยพลการ

(28 พ.ย. 54) ที่ศาลาว่าการกทม. เวลา 15.30 น. : นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีมีผู้แอบอ้างคำสั่ง ศปภ. โดยนำประชาชนเปิดประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์ เขตสายไหม โดยพลการจากเดิม 1 เมตร เป็น 1.50 เมตร เมื่อวานนี้ (27 พ.ย.) ว่า ศปภ. มีหนังสือเลขที่ 369/2554 ลงวันที่ 25 พ.ย. 54 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ให้กทม.เปิดประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์ที่ระดับ 1.50 เมตร ซึ่งหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือขอความอนุเคราะห์ไม่ใช่คำสั่งให้กทม.เปิดประตูระบายน้ำ ขณะเดียวกันในวันที่ 26 พ.ย. 54 กทม. ได้มีหนังสือตอบกลับไปยังศปภ.เพื่อชี้แจงว่าไม่สามารถเปิดประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์ที่ระดับ 1.50 เมตร ได้ เนื่องจากจะกระทบกับหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 19/2554 ลงวันที่ 23 ต.ค. 54 ซึ่งให้อำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในการใช้ดุลพินิจในการเปิดประตูระบายน้ำตามความเหมาะสมและเกิดผลกระทบต่อประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครน้อยที่สุด คำสั่งระบุให้กทม. บริหารจัดการน้ำจากพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยร้ายแรงไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา โดยให้กทม. เปิดประตูระบายน้ำในเขตพื้นที่รับผิดชอบเพื่อรองรับการระบายน้ำจากกรมชลประทานผ่านระบบสูบน้ำของกทม. ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และคำนึงระดับน้ำที่เหมาะสมเพื่อไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน เช่น กทม. ได้เปิดประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ จากเดิม 1.20 เมตร เป็น 1.50 เมตร และ ประตูระบายน้ำแสนแสบ เขตมีนบุรี จากเดิม 1 เมตร เป็น 1.30 เมตร เพื่อเร่งระบายน้ำพื้นที่ด้านเหนือและตะวันออกให้เร็วที่สุ

โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ผู้แอบอ้างและนำประชาชนดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์โดยพลการ คือ พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี ลำดับที่ 10 โดยแอบอ้างคำสั่งของนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศปภ. ดำเนินการโดยพลการ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีคำสั่งจากศปภ.ให้เปิดประตูระบายน้ำพระยาสุรเนทร์แต่อย่างใด พร้อมกันนี้ผู้แอบอ้างได้ลงบันทึกประจำวันไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลสายไหม เมื่อวันที่ 27 พ.ย. เวลา 19.59 น. ภายหลังจากเปิดประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์ โดยกล่าวหาการทำงานของกทม. รวมกว่า 3 หน้ากระดาษ ซึ่งทำให้กทม. เกิดความเสียหาย และประชาชนเกิดความเข้าใจผิด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ผู้ว่าฯกทม. ได้มอบหมายให้ทีมกฎหมายตรวจสอบข้อกล่าวหาทั้งหมดอย่างรอบคอบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมทั้งกทม.จะทำหนังสือแจ้งให้ผู้อำนวยการศปภ.รับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย

โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า กทม. บริหารจัดการน้ำโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และตัดสินใจดำเนินการทุกอย่างด้วยหลักของเหตุและผล แม้ประชาชนจะไม่พอใจทั้ง 100% แต่ทำให้การบริหารจัดการน้ำสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจในการทำงานของกรุงเทพมหานครต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น