นายกิตพล เชิดชูกิจกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตประเวศ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่เขตประเวศว่า พื้นที่เขตประเวศ มีคลองประเวศบุรีรมย์เป็นเส้นทางที่จะมีการผันน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำเหนือที่ไหลเข้าพื้นที่กรุงเทพฯให้ออกไปเร็วที่สุด โดยขณะนี้พื้นที่ริมคลองประเวศฯ เกิดน้ำท่วมขัง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้วประมาณ 1,000 ครัวเรือน ซึ่งหากมีการผันน้ำเข้าคลองเพื่อเร่งระบายน้ำตามแนวทางของสำนักการระบายน้ำของกทม. นั้น อาจส่งผลกระทบกับประชาชนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเขตประเวศ มีสภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มแอ่งกระทะ มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม หากบริหารจัดการน้ำไม่ดี และอาจส่งผลให้น้ำเข้าท่วมถนนพัฒนาการ เป็นเวลานาน เพราะการระบายน้ำออกจากพื้นที่ทำได้ยาก ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก
ทั้งนี้สำนักงานเขตประเวศรวมทั้งทีมงานของตนได้ลงพื้นที่ประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำที่จะเข้ามา โดยให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งคลองประเวศบุรีรมย์เตรียมขนย้ายสิ่งของ ปลั๊กไฟ ยานพาหนะ ขึ้นไว้ที่สูง และพร้อมเคลื่อนย้ายออกจากที่พักอาศัยหากไม่ปลอดภัย แม้ขณะนี้จะยังไม่มีท่วมสูงในพื้นที่แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังน้ำเหนือจากสายไหมที่ไหลบ่ามาทางถนนรามอินทราเรื่อยมาตามทุ่ง รวมถึงน้ำจากคลองสามวาที่มีการเปิดประตูระบายน้ำคลองสามวาเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบมาถึงพื้นที่เขตประเวศด้วย นอกจากนี้ยังได้ประสานสำนักการระบายน้ำในการผันน้ำเข้าคลองประเวศไม่ให้เกิดภาวะน้ำล้นคลอง ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนริมฝั่งคลองได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
นายกิตพล กล่าวเพิ่มอีกว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครครั้งนี้ ทำให้กทม. ต้องมีการเตรียมมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตมากขึ้น เนื่องจากภัยธรรมชาติมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกๆปี แม้จะมีเขื่อนป้องกันริมแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ก็ยังคงมีปัญหาในบางจุดที่เป็นพื้นที่เอกชนหรือชุมชนบุกรุกที่ไม่สามารถเข้าไปก่อสร้างได้ เช่นปัญหาที่เขตบางพลัดซึ่งสร้างความเดือนร้อนให้ประชาชนทั้งเขตรวมไปถึงพื้นที่ฝั่งธนบุรีอีกหลายเขต กทม. จึงต้องเข้าไปพูดคุยจริงจัง รวมทั้งหาแนวทางตกลงในพื้นที่ที่เป็นปัญหาเพื่อปิดจุดอ่อนฟันหลอทั้งหมด เพื่อไม่ให้ประชาชนอีกหลายล้านคนได้รับความเดือดร้อน รวมถึงต้องประสานจังหวัดปริมณฑลในการแก้ไขปัญหาและมาตรการป้องกันร่วมกันด้วย
ในส่วนของการเตรียมพร้อมของประชาชน ควรมีการปรับสภาพที่พักอาศัยให้พร้อมสำหรับการเคลื่อนย้ายได้เมื่อเกิดภัยน้ำท่วม รวมไปถึงต้องมีมาตรการป้องกันระบบไฟฟ้าป้องกันอัตราจากน้ำท่วมด้วย ซึ่งในปีนี้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้มอบ“เป็ดน้อยเตือนภัย” ให้แก่กทม. เพื่อใช้ในการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมสูง โดยสามารถตรวจสอบกระแสไฟฟ้ารั่วในน้ำก่อนปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนอย่างปลอดภัยต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น