(9 พ.ย.54) เวลา 13.00 น. ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 กทม. : พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรน้ำ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักการระบายน้ำ เพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือ การแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียท่วมขัง และการจัดการสารเคมีในพื้นที่กรุงเทพมหานครจากสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีการเก็บรักษาสารเคมีไว้ในโรงงาน จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดการรั่วไหลและแพร่กระจายของสารเคมีสู่สิ่งแวดล้อมจากการแตกรั่วของถังบรรจุหรือระบบท่อต่างๆ เนื่องจากแรงดันของน้ำที่พัดเข้าไปภายในอาคารหรือโกดังเก็บสารเคมีและการเสื่อมสภาพของภาชนะบรรจุจากการถูกแช่ในน้ำเป็นระยะเวลานาน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้มีหนังสือแจ้งเตือนให้สถานประกอบการตรวจสอบสารเคมีและวัตถุอันตรายที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตโทรย้ำสถานประกอบการให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมขัง ซึ่งจนถึงขณะนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่มีรายงานการรั่วไหล และปนเปื้อนของสารเคมี จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม กทม.ได้เตรียมมาตรการรองรับหากเกิดกรณีรั่วไหลซึ่งได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานประกอบการอย่างสม่ำเสมอ
ในส่วนของปัญหาน้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็นเนื่องจากมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานนั้น กทม.ได้ส่งเจ้าหน้าที่จัดเก็บตัวอย่างน้ำในพื้นที่ต่างๆ มาตรวจวิเคราะห์หาสารปนเปื้อนแต่ก็ยังไม่พบว่ามีสารปนเปื้อนจนเป็นอันตรายต่อประชาชน อีกทั้งได้ใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์และกำจัดกลิ่นเหม็นในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังและเริ่มส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งไม่สามารถสนับสนุนได้ครบถ้วนทุกพื้นที่ ทั้งนี้ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร จึงได้ผลิตน้ำชีวภาพกว่า 20,000 ลิตร แจกจ่ายให้กับประชาชนเพื่อนำไปบำบัดน้ำเสียบริเวณบ้านของตนเอง โดยสามารถนำขวดไปติดต่อขอรับฟรี ที่เรือนเพาะชำ สวนลุมพินี (ประตูด้านถนนวิทยุ) เขตปทุมวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 เวลา 09.00 – 15.00 น. เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังเปิดสอนให้ประชาชนหมักน้ำชีวภาพด้วยตนเองด้วย สอบถามรายละเอียดได้ที่กองนโยบายและแผนงาน สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2246 0688
นอกจากนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยังได้กล่าวถึงโรคที่จะมากับน้ำซึ่งขณะนี้กทม.ยังไม่ได้รับรายงานการระบาดของโรค โดยโรคที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดจากการบริโภคอาหาร จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังในการบริโภคอาหาร และขอฝากถึงประชาชนที่บริจาคอาหารปรุงสำเร็จแก่ผู้ประสบภัยให้เลือกอาหารที่เสียยากและสามารถเก็บไว้ได้นาน
----------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น