กทม.จัดกิจกรรมสัมมนาเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน ระดมสมองร่วมผลักดันแผนยุทธศาสตร์สร้างกรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งการอ่าน เพื่อเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่ง World Book Capital จาก UNESCO ในปี 2556
(28 ต.ค.53) ณ ห้องธาราเทพ ฮอลล์ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค เขตห้วยขวาง : นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการสัมมนา “ภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งการอ่าน” โดยมีภาคีเครือข่าทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ นักวิชาการ ครู อาจารย์ บรรณารักษ์ ผู้ผลิตและจำหน่ายหนังสือ มูลนิธิ และองค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนกิจกรรมการอ่านเข้าร่วมการสัมมนา เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอมุมมอง และกิจกรรมที่แต่ละองค์กรได้ทำมาแล้ว เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างกัน และนำไปสู่การวางแผนยุทธศาสตร์ในการผลักดันกรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครแห่งการอ่านอย่างแท้จริงและยั่งยืน เพื่อเสนอชื่อกรุงเทพมหานครเข้าชิงตำแหน่ง World Book Capital (เมืองหนังสือโลก) ในปี 2556 จากองค์กร UNESCO
นางทยา กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีนโยบายที่จะทำให้กรุงเทพมหานคร เป็นมหานครแห่งการอ่านซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาศักยภาพเมือง เพื่อก้าวทันการแข่งขันทางเศรษฐกิจและเป็นมหานครแห่งการเรียนรู้ พร้อมสนองนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคม โดยให้ประชาชนมีแหล่งเรียนรู้ที่เข้าถึงง่าย และพัฒนาห้องสมุดให้มีความทันสมัยเป็นห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีบ้านหนังสือซึ่งเป็นห้องสมุดขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และปลูกฝังเยาวชนและประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการแสวงหาความรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
สำหรับยุทธศาสตร์ผลักดันกรุงเทพมหานครสู่เมืองหนังสือโลก ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ร่วมเปลี่ยนกระบวนทัศน์สังคม โดยทำให้ชาวกรุงเทพฯ เชื่อว่าการอ่าน..เปลี่ยนชีวิตได้ “Make reason to believe” ยุทธศาสตร์ที่ 2 นโยบายชัดเจนต่อเนื่อง โดยกรุงเทพมหานครเป็นหลัก ทุกภาคส่วนร่วมผลักดัน ยุทธศาสตร์ที่ 3 ร่วมมือเครือข่ายภาคี โดยสร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางกับภาคีด้วย Win Win Strategy ยุทธศาสตร์ที่ 4 เปิดพื้นที่และทรัพยากรการอ่านที่เข้าถึงง่าย อ่านได้ทุกที่ ทุกเวลา Everyone Can Read Everywhere Everytime ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมการอ่านที่หลากหลาย ผ่านหลากหลายกิจกรรม ครอบคลุมทุกช่วงวัย ใส่ใจผู้ปฏิบัติ และสร้างอาสาสมัคร ยุทธศาสตร์ที่ 6 สร้างการสื่อสารสาธารณะ โดยบูรณาการช่องทางการสื่อสาร Online & Offline Media Above & Below the line
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น