ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์เผย 5 มาตรการรับมือน้ำท่วมกรุง

(23 ต.ค. 53) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงมาตรการป้องกันและความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนชาวกรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์น้ำที่รุนแรงผิดปกติ และคาดการณ์ได้ยาก ที่สำคัญขณะนี้น้ำ 3 ด้าน คือ น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนสูงพร้อมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณน้ำเหนือไหลหลากสูงมากเป็นประวัติการณ์ จนเขื่อนต่างๆ ไม่สามารถรองรับได้ และกรมชลประทาน ได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ไหลสู่กทม. เพิ่มขึ้นถึง 4,323 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

นอกจากนี้ยังมีปริมาณน้ำฝนที่ตกหนัก ซึ่งในเร็วๆ นี้ อาจจะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทยอีกครั้ง และปริมาณน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือคาดการณ์ว่า น้ำทะเลจะหนุนสูงสุดในช่วงวันที่ 26-27 ตุลาคม นี้ ที่ระดับ 1.21 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้กทม. มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดภาวะน้ำท่วม สำหรับในวันนี้น้ำทะเลหนุนสูงที่ระดับ 1.06 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง แต่วัดแล้วระดับน้ำจริงอยู่ที่ 1.76 จากระดับน้ำทะเลปานกลาง อย่างไรก็ตาม กทม.ได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา น้ำท่วมฉับพลัน โดยมอบหมายให้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมกันวางแผน และดำเนินการป้องกันอย่างเต็มที่ในทุกด้าน โดยมีนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ เป็นผู้ดูแลหลัก และรองผู้ว่าฯ ทั้ง 3 ท่านเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยกันสกัดกั้นปัญหารุนแรง

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯกทม. ได้กล่าวถึง 5 มาตรการลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากน้ำล้นทะลักเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า มาตรการที่ 1 สั่งการให้นำกระสอบทรายจำนวน 200,000 ใบ จากจำนวนที่จะปฏิบัติการได้ 4,000,000 ใบ อุดจุดฟันหลอทุกจุดตามแนวเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยานอกแนวคันกั้นน้ำตลอดแนวสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของเขต กทม. มาตรการที่ 2 นำกระสอบทรายไปเสริมแนวคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นตามจุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ชุมชนริมแม่น้ำในเขตบางกอกน้อย บางพลัด และดุสิต มาตรการที่ 3 ประสานกับ ทางกรมชลประทานอย่างใกล้ชิดเพื่อปล่อยน้ำจากเขื่อนอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดโอกาสการเกิดน้ำท่วมให้ได้มากที่สุด ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่จะช่วยป้องกันเพราะน้ำที่ไหลลงมามีปริมาณมาก มาตรการที่ 4 ได้มีการสร้างสะพานและทางเดินชั่วคราว โดยจะครอบคลุม 27 ชุมชน ในพื้นที่ 13 เขตเสี่ยงน้ำท่วม มาตรการที่ 5 เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาด 4-20 นิ้ว จำนวนกว่า 1,065 เครื่อง ติดตั้งไว้ในจุดสำคัญๆ ต่างๆ และพร้อมใช้งานทันทีหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม

นอกจากนี้ กทม.ได้จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว หรือหน่วย BEST และเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำจุดเสี่ยง พร้อมยานพาหนะ และอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ที่พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และยังได้เตรียมถุงยังชีพ เวชภัณฑ์ และเครื่องอุปโภคบริโภค หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งประสานวัด โรงเรียน มัสยิด ในพื้นที่จุดเสี่ยงทั้ง 13 เขต เพื่อรองรับประชาชนกรณีจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากที่อยู่อาศัย โดยเจ้าหน้าที่สำนักป้องกันบรรเทาสาธารณภัยและสำนักเทศกิจจากเขตต่างๆ พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนเคลื่อนย้ายทรัพย์สินไว้ในที่ปลอดภัย แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่พี่น้องประชาชนชาวกทม. จะช่วยกันทำได้ คือ ขอให้พี่น้องประชาชนหมั่นตรวจตรา และทำความสะอาดไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง ขยะ หรือสิ่งอุดตันท่อระบายน้ำบริเวณหน้าบ้านของตนเอง เพื่อไม่กีดขวาง การระบายน้ำด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายของวันนี้ (23 ต.ค. 53) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในศูนย์รับบริจาคและเยี่ยมชุมชนลำปลาทิว เขตลาดกระบัง ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม พร้อมทั้งตรวจสอบความพร้อมในการเตรียมการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เขตลาดกระบัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น