ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ลงพื้นที่ตรวจแนวป้องกันน้ำท่วมย่านฝั่งธนฯ พร้อมรับมือน้ำหนุนช่วง ต.ค. นี้

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ ปลัดกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาและ คลองมหาสวัสดิ์ บริเวณใต้สะพาน
กรุงธน (ฝั่งธนบุรี) ชุมชนวัดภคินีนาถ เขตบางพลัด ชุมชนหลังสถานีรถไฟศาลาธรรมสพน์ ชุมชนวัดปุรณาวาส และประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา โดยมีนายสัญญา ชีนิมิต ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ คณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ ผู้อำนวยการเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปโครงการฯ

แนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ ในอดีตใช้ถนนเป็นแนวคันกั้นน้ำ พื้นที่ฝั่งกรุงเทพมหานครใช้ถนนประชาราษฎร์ สาย 2, ถนนสามเสน, ถนนพระอาทิตย์, ถนนมหาราช, ถนนทรงวาด, ถนนเจริญกรุง, ถนนพระรามที่ 3 และถนนทางรถไฟสายเก่า ส่วนพื้นที่ฝั่งธนบุรี ใช้ถนนจรัญสนิทวงศ์, ถนนบรมราชชนนี, ถนนศาลาธรรมสพน์, ถนนสวนผัก, ถนนชัยพฤกษ์, ถนนบางกอกน้อย - ตลิ่งชัน, ถนนวัดสุทธาวาส, ถนนอรุณอัมรินทร์, ถนนวังเดิม, ถนนสมเด็จเจ้าพระยา, ถนนเจริญนคร, และถนนราษฎร์บูรณะ จากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี พ.ศ. 2538 และ พ.ศ. 2539 เนื่องจากน้ำเหนือไหลบ่าและน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 28 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 80,000 หลังคาเรือน ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก กรุงเทพมหานครจึงดำเนินการก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมความยาวประมาณ 77.00 กิโลเมตร การก่อสร้างได้คำนึงถึงพื้นที่ที่มีระดับน้ำท่วมสูง และระยะเวลาน้ำท่วมนานเป็นลำดับแรกก่อน โดยดำเนินการในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด เช่น บริเวณถนนเจริญนคร เขตคลองสาน และบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางพลัด ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว

โครงการ ก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร ทั้งสองฝั่งยาวประมาณ 86.00 กิโลเมตร ซึ่งก่อสร้างจริงความยาว 77.00 กิโลเมตร มี แนวป้องกันน้ำท่วมถาวรที่สามารถป้องกันน้ำได้ที่ระดับ + 2.40 เมตร (รทก.) เป็นความยาวประมาณ 75.774 กิโลเมตร ส่วนที่เหลืออีก 1.226 กิโลเมตร คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2554 สำหรับแนวป้องกันน้ำท่วมที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ กรุงเทพมหานครได้เตรียมพร้อมโดยการนำกระสอบทรายมาวางเป็นแนวป้องกันน้ำท่วม ชั่วคราว โดยสามารถป้องกันน้ำได้ที่ระดับ + 2.40 เมตร (รทก.)

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อตรวจแนวป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งธนบุรี และเตรียมความพร้อมในการป้องกันน้ำท่วม จากการคาดการณ์ระดับน้ำจะมากในช่วงเดือน ต.ค. แต่ระดับน้ำจะไม่ถึงขั้นวิกฤติและไม่มีผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร เพราะได้รับการป้องกันจากแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ก่อสร้าง เสร็จแล้ว สำหรับพื้นที่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมได้วางกระสอบทรายเป็นแนวป้องกันชั่วคราว นอกจากนี้ยังได้เตรียมกระสอบทรายไว้จำนวน 4 ล้านใบ ไว้ป้องกันบริเวณที่ยังก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมไม่เสร็จรวมถึงพื้นที่ เสี่ยง ตลอดจนเตรียมเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องสูบน้ำประจำพื้นที่จุดอ่อนเสี่ยงต่อการ ถูกน้ำท่วมอีกด้วย ส่วนบริเวณที่มีบ้านเรือนปลูกสร้างบริเวณแนวก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานครได้เจรจากับประชาชนในพื้นที่แล้ว โดยจะเร่งก่อสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น