ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

18 ต.ค. เข้ารื้อถอนอาคารช่วงสะพานกลับรถใต้สะพานข้ามคลองบางเขน

18 ต.ค. เข้ารื้อถอนอาคารช่วงสะพานกลับรถใต้สะพานข้ามคลองบางเขน
สำนักการโยธา กทม. แจ้งว่า กองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา อาศัยอำนาจตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กำหนดจะเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเอกชนที่อยู่ในแนวเวนคืนของโครงการก่อสร้างถนนเลียบคลองบางเขนเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน ระยะที่ 3 ช่วงสะพานกลับรถใต้สะพานข้ามคลองบางเขน ส่วนที่เหลือจำนวน 7 หลัง ในวันที่ 18 ตุลาคม 2553 เนื่องจากเจ้าของยังไม่ยอมรื้อถอนแม้ว่าจะรับเงินค่าตอบแทนไปบางส่วนแล้ว ในการนี้มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บก.น. 2 และ สน.ท้องที่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทศกิจ มาคอยดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และอำนวยการจราจรในการรื้อถอนด้วย
นายวีรภัทร์ พันธุ์หาญ หัวหน้ากลุ่มงานจัดกรรมสิทธิ์ 2 สำนักการโยธา ชี้แจงว่า บริเวณดังกล่าวเป็นทางกลับรถใต้คลองบางเขน (บางบัว) เมื่อก่อสร้างเสร็จจะสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรและลดอุบัติเหตุได้ เนื่องจากรถที่มาจากเกษตรซึ่งมาปริมาณหนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วนไม่จำเป็นต้องข้ามสะพานไปกลับรถที่หน้ากรมทหารราบที่ 1 ในขณะที่รถออกจากซอยพหลโยธิน 49/1 ที่จะมุ่งหน้าไปเกษตรสามารถกลับรถใต้สะพานได้เลยเช่นกัน ทั้งนี้หลังจากที่ได้รื้อถอนอาคารบางส่วนไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างต่อไปได้ จึงจำเป็นต้องรื้อถอนอาคารที่เหลือให้แล้วเสร็จ โดยวัสดุก่อสร้างที่ทำการรื้อถอนและทรัพย์สินในครัวเรือนหากเจ้าของไม่รับ จะทำการขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นต่อไป และดำเนินคดีกับผู้ที่ขัดขวางการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้จากการที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธาได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนเลียบคลองบางเขน สายเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธิน กับถนนวิภาวดีรังสิต และสายเชื่อมระหว่างถนนพหลโยธินกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 351 สายแยกของกรุงเทพมหานครควบคุม (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3202 (บึงกุ่ม) พ.ศ. 2543 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณดังกล่าว แต่ติดขัดไม่อาจก่อสร้างในระยะที่ 3 ต่อไปได้ เนื่องจากติดปัญหาอาคารบ้านเรือนในแนวก่อสร้าง โดยบริเวณดังกล่าวมีโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน จำนวน 151 หลัง รื้อถอนแล้ว 114 หลัง คงเหลือ 37 หลังที่เจ้าของรับเงินค่าทดแทนงวดแรกไป 75% ไปแล้วแต่ยังไม่ยอมรื้อถอนตามสัญญา โดยสำนักการโยธาได้มีหนังสือแจ้งกำหนดการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ และแจ้งวางเงินทดแทนครบทั้ง 100% แล้ว ประกอบกับมีความจำเป็นต้องเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้าง จึงต้องเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น