ค้นหาบล็อกนี้

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

กทม. มั่นใจรับมือน้ำเหนือได้มากกว่า 4,500 ลบ.ม./วินาที

กทม.แจ้งประชาชนให้อุ่นใจ เขื่อนริมเจ้าพระยารองรับน้ำได้ 2.50 เมตร แม้น้ำจากท้ายเขื่อนมากกว่า 4,500 ลบ.ม./วินาที ก็ไม่น่าห่วง หากมากกว่านั้นยังเสริมกระสอบทรายสูงขึ้นอีก 20-30 ซ.ม. แต่เตือนประชาชน 27 ชุมชน ใน 13 เขต 1,273 ครัวเรือน เฝ้าระวังน้ำทะลัก เตรียมพร้อมขนย้ายตลอดเวลา

22 ต.ค. 53 นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและหารือถึงแผนการเตรียมความพร้อมป้องกันน้ำท่วมพื้นที่กทม. โดยมีนางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ สำนักการระบายน้ำ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการโยธา สำนักอนามัย

จากการรายงานของสำนักการระบายน้ำ ถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันมีฝนตกรวม 1,886 มิลลิเมตร มากกว่าปริมาณเฉลี่ย 30 ปี และจากสถิติทุกเดือนที่ผ่านมาในปีนี้พบว่ามีปริมาณมากกว่าค่าเฉลี่ยทั้งสิ้น โดยมีการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาปริมาณ 4,134 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะถึงเขตกรุงเทพฯ ในวันที่ 24 ต.ค. 53 คาดการณ์ว่าจะมีระดับน้ำสูง 2.08 เมตร อีกทั้งการคาดการณ์จากกรมอุทกศาสตร์ ระหว่างวันที่ 25-26 ต.ค. 53 รายงานว่าหากมีปริมาณน้ำท้ายเขื่อน 3,500 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำอยู่ที่ 1.86 เมตร หรือหากมีปริมาณ 4,000 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำอยู่ที่ 2.13 เมตร และหากมีปริมาณ 4,500 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำจะอยู่ที่ 2.35 เมตร ซึ่งหากไม่มีฝนตกในวันดังกล่าว กทม. สามารถรองรับน้ำได้ โดยระดับเขื่อนกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยามีความสูง 2.50 เมตร อีกทั้งได้มีการเสริมแนวเขื่อนด้วยกระสอบทรายสูงขึ้นอีก 20-30 เซนติเมตรด้วย

ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่ลงมาถึงเขตกรุงเทพฯ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำ และพื้นที่ที่ยังไม่สร้างแนวเขื่อน และชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา 27 ชุมชน ใน 13 เขต 1,273 ครัวเรือน ซึ่งได้มีการเตรียมรับสถานการณ์ไว้แล้ว ทั้งการเตรียมวางกระสอบทราย การอพยพ การเตรียมเวชภัณฑ์ อาหาร รถขนย้ายสิ่งของ สะพานไม้ แต่ประชาชนก็ต้องเตรียมพร้อมตัวเองด้วย หากมีเหตุฉุกเฉินได้มีการเตรียมโรงเรียน วัด มัสยิด ไว้สำหรับเคลื่อนย้ายประชาชน จำนวน 20 แห่งแล้ว ในส่วนของการเตรียมพร้อมในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ ก็ได้เตรียมการไว้ตลอดเวลา หากมีน้ำไหลเข้าพื้นที่ก็สามารถระบายน้ำด้วยประตูระบายน้ำ 214 แห่ง สถานีสูบน้ำ 157 สถานี เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 1,065 เครื่อง บ่อระบายน้ำใต้ดินจากท่อสู่คลอง 180 แห่ง หน่วยเบสท์ 79 หน่วย หน่วยเทศกิจให้ความช่วยเหลือ 3 ชุด โดยอาจมีการขังอยู่บ้าง 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ

อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ กทม. ขอให้ประชาชนอย่าได้ตระหนก แต่ให้ตื่นตัวตลอดเวลาในการรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านหน่วยงานของ กทม.หรือสื่อมวลชน โดยสามารถแจ้งเหตุน้ำท่วมได้ตลอด 24 ชั่วโมง โทร. 1555 และ 0 2248 5115 และช่องทางเครือข่ายสังคม Facebook Twitter และสื่อมวลชนทุกสาขา และติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวที่ Facebook ชื่อ “ประชาสัมพันธ์ กทม.” Twitter ชื่อ “bangkok_pr”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น