ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ขับเคลื่อนชุมชนพึ่งตนเองเปลี่ยนแปลงกทม.ให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน

(16 ธ.ค. 53) นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดการสัมมนาโครงการแผนชุมชนพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีนางเพียงใจ วิศรุตรัตน รองปลัดกรุงเทพมหานคร นางอารุณี รัศมิทัศ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม พร้อมด้วยหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ หัวหน้าฝ่ายการคลัง หัวหน้าฝ่ายโยธา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม.
โครงการแผนชุมชนพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ และกำหนดแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนของตนด้วยตนเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานภายนอกเป็นผู้ให้การสนับสนุน ทั้งนี้การพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนา เรียนรู้ และสรุปบทเรียนอย่างต่อเนื่อง ทุกภาคส่วนต้องสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของเครื่องมือ เชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนว่าเมื่อชุมชนเข้มแข็งพึ่งตนเองได้และเป็นชุมชนที่มีคุณภาพก็จะส่งผลให้เกิดภาคีพัฒนาภาคประชาชนเข้ามาร่วมแบ่งเบาภารกิจในด้านการพัฒนาเมืองให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่ร่วมกัน
การสัมมนาในครั้งนี้เป็นกิจกรรมในโครงการแผนชุมชนพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ระยะที่ 4 ของสำนักพัฒนาสังคม ซึ่งประกอบด้วย 5 กิจกรรม ดำเนินการต่อเนื่องกัน ดังนี้ กิจกรรมที่ 1 การสัมมนาสร้างความเข้าใจแก่หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม หัวหน้าฝ่ายการคลัง หัวหน้าฝ่ายโยธา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการแผนชุมชนในระยะที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 ธ.ค. 53 ณ โรงแรมทวาราวดีรีสอร์ท จ.ปราจีนบุรี กิจกรรมที่ 2 การอบรมการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมสู่แผนชุมชนแก่ข้าราชการฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคมของสำนักงานเขต กิจกรรมที่ 3 การอบรมวิทยากรกระบวนการให้แก่ผู้นำชุมชน กิจกรรมที่ 4 การอบรมพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมสู่แผนชุมชนแก่ผู้นำชุมชน และกิจกรรมที่ 5 การอบรมให้ความรู้แก่คณะทำงานจัดทำแผนชุมชนของชุมชน
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาเป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ต้องทำการคัดเลือกแกนนำประชาชนเข้ามาเป็นคณะทำงาน ภารกิจนี้จึงนับว่าเป็นงานหนัก ขอให้กำลังใจและยินดีรับฟังทุกปัญหาในฐานะผู้ปฏิบัติงานโดยตรงที่อยู่ใกล้ชิดพื้นที่ และเข้าใจสถานการณ์มากที่สุด โดยเชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือ สนับสนุนให้เกิดแผนการบูรณาการความคิด ความรู้ ความสามารถและศักยภาพในการนำพาแผนชุมชนพึ่งตนเองให้ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น