ค้นหาบล็อกนี้

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กทม. จัดระดมความคิดทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสวรรค์

(14 ธ.ค. 53) เวลา 15.30 น. : ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีปิดการเสวนา Smart Bangkok Summit : กรุงเทพเมืองสวรรค์ ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เขตปทุมวัน ซึ่งกทม. จัดขึ้นเนื่องในวันคล้าย วันสถาปนากรุงเทพมหานคร ครบรอบ 38 ปี เพื่อระดมความคิดเห็นของภาคประชาคม ภาคธุรกิจ นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ ในการร่วมกันหาแนวทางที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาตามมาตรฐานสากลว่าด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ และนำนวัตกรรมล้ำสมัยในการขับเคลื่อนนโยบายหลักทั้ง 5 ด้านของกทม. ได้แก่ การพัฒนาระบบการจราจรและขนส่ง ระบบการบริหารสาธารณสุข การพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษา ระบบความปลอดภัยสาธารณะ และระบบการบริหารงานภาครัฐ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน สร้างกรุงเทพฯ เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และเป็นเมืองสวรรค์ต่อไป

ร่วมสร้างฝันไม่หยุดนิ่ง เป็นแรงบันดาลใจการทำงาน
ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ผลจากการสัมมนาครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อการบริหารกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเมือง 4 ด้าน คือ 1. การสร้างระบบที่มีอยู่ให้คุ้มค่า เช่น การเชื่อมโยงระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ของภาครัฐและเอกชน เพื่อประสิทธิภาพในการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยในกรุงเทพฯ 2. การสร้าง Brand Value เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก และพัฒนาต่อไปโดยสร้างกทม.ให้เป็น Smart Bangkok ที่มีความพร้อมในการแข่งขันและการลงทุน 3. การบริหารจัดการเมืองอย่างชาญฉลาด โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และประชาชนเป็นสำคัญ และ 4. เตรียมกรุงเทพฯ ให้พร้อมเพื่อสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ ทั้งนี้สิ่งสำคัญประการหนึ่งของผู้บริหารเมือง คือ จำเป็นต้องตอบตอบสนองความคาดหวังของประชาชนกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยหยุดนิ่งให้ได้ ซึ่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในครั้งนี้ จะเป็นการร่วมกันสร้างความฝันและแรงบันดาลใจทำให้กรุงเทพฯ เดินหน้าอย่างมีทิศทางและเจริญก้าวหน้าต่อไป

ทำกรุงเทพฯ เป็นเมืองสวรรค์ต้องปฏิบัติจริง
ในช่วงเช้าของการสัมมนา ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมเสวนาหัวข้อ กรุงเทพฯ เมืองสวรรค์ควรเป็นอย่างไร และทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริง” โดยกล่าวว่า กทม. และผู้เกี่ยวข้องจะต้องมุ่งมั่นและลงมือทำ 5 ด้าน คือ 1. นักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก 2. มองไกลและทำให้เร็ว ใช้เวลาสั้นๆ ซึ่งจะต้องใช้วิสัยทัศน์ในการบริหารเมืองที่มาจากข้อมูลและโมเดลจำลองทางคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นการคาดการณ์ในอนาคตในด้านต่างๆ มากกว่าการใช้วิสัยทัศน์ที่มาจากจินตนาการเพียงอย่างเดียว 3. ต้องลงทุนเรื่องเครื่องมือเพื่อทำให้บุคลากรจำนวนมากของกทม. ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ รู้จักวิเคราะห์ประเมิน รับรู้ข่าวสารมากขึ้น 4. ด้านงบประมาณและบุคลากรต้องขับเคลื่อนควบคู่กันไป และ 5. ทำให้เกิดการปฏิบัติขึ้นจริง ไม่ใช่วางแผนแล้วไม่ทำอะไร
ด้าน ดร.อาณัติ อาภาภิรม กรรมการบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวด้วยว่า แผนแม่บทรถไฟฟ้า 12 สาย 495 กิโลเมตร ซึ่งกำหนดเสร็จตามแผนในปี 2572 นั้นนานเกินไป ควรช่วยกันผลักดันให้สำเร็จ โดยการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางและส่วนท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชน เป็นต้น

ระดมความคิดเห็น 5 กลุ่มย่อย พร้อมสรุปข้อเสนอแนะเป็นแนวทางพัฒนาเมือง
สำหรับช่วงบ่ายเป็นการเสวนากลุ่มย่อย เพื่อระดมความเห็นเชิงวิชาการ โดยจัดกลุ่มผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ด้านการให้บริการภาครัฐ มีการบรรยายหัวข้อ “พัฒนาเมืองให้เต็มประสิทธิภาพ ด้วยศักยภาพงานบริการภาครัฐ” กรณีศึกษาประเทศแคนาดา ทั้งนี้กลุ่มเสวนาได้สรุปประเด็นการบริการภาครัฐว่า ควรนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เพื่อการบริหารงาน พร้อมทั้งเชื่อมต่อระหว่างข้อมูลภาครัฐ เอกชน ให้รวดเร็วและตอบสนองความต้องการของประชาชน มีมาตรฐาน และควรบังคับให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในทุกระดับ

กลุ่มที่ 2 ด้านความปลอดภัย มีการบรรยายหัวข้อ “การรักษาความปลอดภัยในเมืองใหญ่แบบ Digital Innovation” กรณีศึกษานครนิวยอร์ก และสรุปการระดมความคิดเห็นว่า ควรมีการจัดระบบข้อมูลและสถิติต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาชญากรรม จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ปรับสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัย การให้ความรู้ในการป้องกันตนเอง และการเชื่อมต่อข้อมูลใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเพื่อการตัดสินใจ
กลุ่มที่ 3 ด้านการศึกษา มีการบรรยายหัวข้อ “การร่วมมือเพื่อการปฏิรูปการศึกษาสู่การพัฒนาบุคคลอย่างยั่งยืน” ศึกษากรณี North Carolina ผลการเสวนากลุ่มระบุว่า การปฏิรูปการศึกษาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และนำนวัตกรรมมาใช้ในการเรียนรู้ เช่น เชื่อมโยงการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ปรับหลักสูตรผ่านระบบ Smart Phone และระบบการเรียนรู้นอกห้องเรียน อีกทั้งจัดหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องเด็กรุ่นใหม่และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ สร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ มีการพัฒนาครูและปรับค่าตอบแทน รวมถึงจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
กลุ่มที่ 4 ด้านสุขภาพ มีการบรรยายหัวข้อ “ยกระดับสุขภาพเมืองด้วยการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข” กรณีศึกษา University of North Carolina Health System โดยผลการเสวนากลุ่ม คือ ให้ความรู้และข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับสุขภาพที่ดี การเชื่อมโยงข้อมูลด้วยการสร้างระบบ E-healty และเพิ่มทางเลือกในการดูแลตนเองนอกโรงพยาบาล
และกลุ่มที่ 5 ด้านการจราจรและขนส่ง มีการบรรยายหัวข้อ “ขับเคลื่อนระบบขนส่งมวลชนในเมืองสู่ระบบการจัดการอย่างชาญฉลาด” กรณีศึกษา ระบบขนส่งมวลชนของประเทศสิงคโปร์ โดยผลสรุปการเสวนากลุ่ม คือ ควรวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ และควรดำเนินการตามแผนแม่บทด้วยระบบขนส่งมวลชนที่รวดเร็ว ปลอดภัย บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ในราคาที่เหมาะสม เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น