ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

คณะกรรมการวิสามัญฯ สภากทม. พิจารณางบสะสมจ่ายขาดของสำนักการจราจรฯ

(28 ม.ค. 54) ที่ห้องประชุม 4-6 สภากรุงเทพมหานคร นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติความเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครจ่ายเงินสะสมกรุงเทพมหานครจำนวน 10,000,000,000 บาท (หนึ่งหมื่นล้านบาทถ้วน) เป็นประธานการประชุม ซึ่งวันนี้เป็นการพิจารณา สำนักการจราจรและขนส่ง และสำนักระบายน้ำ โดยมีคณะกรรมการวิสามัญฯ นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวินัย ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง พร้อมเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

สำนักจราจรและขนส่ง เสนองบฯ 1,488 ล้านบาท
สำหรับงบประมาณรายจ่ายพิเศษจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของสำนักการจราจรและขนส่ง จำนวน 1,488 ล้านบาทแบ่งเป็นด้านการโยธาและระบบการจราจร แผนงานพัฒนาการใช้ที่ดินและระบบจราจร อาทิ โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร โครงการบริหารจัดการการให้บริการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) โครงการบริหารจัดการเดินรถระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 (ซอยสุขุมวิท 85 – ซอยสุขุมวิท 107) โครงการระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา(Light Rail) สายบางนา – สามย่าน โครงการระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ระยะที่ 1 จากสยาม-สามย่าน และโครงการจัดหาพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด( CCTV) พร้อมเชื่อมโยงสัญญานภาพไปที่ 11 สำนักงานเขต
ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้สอบถามถึงความคืบหน้าของหลายโครงการ อาทิ โครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) เกี่ยวกับการบริหารจัดการการเดินรถในช่วงเวลาเร่งด่วน และจำนวนผู้อัตราผู้โดยสารที่ไม่คงที่ ซึ่งนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า ปัญหาการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนมีประชาชนร้องเรียนมาจำนวนมาก กทม. ได้ประชุมร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ช่วยโบกรถเข้ามาในช่องรถ BRT ช่วงสถานี B10 และ B11 เพื่อลดผลกระทบการจราจรที่เคลื่อนตัวมาจากฝั่งธนบุรี มีการกำหนดจุดจอดรถ ไม่ให้มีการจอดแช่รับผู้โดยสาร ซึ่งผลการปฏิบัติงานสามารถช่วยคลี่คลายระบายรถยนต์ได้ 300–500 คัน สภาพจราจรมีความคล่องตัวขึ้น ซึ่งจะสามารถเปิดเต็มรูปแบบได้ในวันที่ 1 ก.พ. 54 นี้ โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสารที่ใช้รถ BRT จำนวน 30,000 คน และจะเพิ่มเป็น 50,000 คน ในอนาคต

โครงการ Monorail มีความคืบหน้า
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้สอบถามความคืบหน้าของโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว(Monorail) ระยะที่ 1 จากสยาม-สามย่าน ซึ่งมีโครงการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ก่อสร้างทางยกระดับและระบบราง ยาวประมาณ 1.5 กม. การก่อสร้างสถานี ทางเดินยกระดับ และอู่จอดรถพร้อมศูนย์ควบคุมและซ่อมบำรุง ซึ่งนายวินัย ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ชี้แจงว่า สำนักฯ ได้เจรจากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะใช้บล็อกที่ 21 เป็นอู่ซ่อมบำรุง และได้รับความเห็นชอบในหลักการแล้ว ส่วนโครงการฯ ที่บริเวณศาลาว่าการกทม.2 (ดินแดง) สำนักการจราจรและขนส่ง มีแผนที่จะเชื่อมต่อสถานี BTS อยู่แล้วโดยสถานีต้นทางจะอยู่ที่กทม.2 (ดินแดง) ผ่านถนนราชปารภ เข้าซอยรางน้ำ ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งจะทำให้ประชาชน ได้รับความสะดวก ในการใช้เส้นทางนี้ เพื่อติดต่อราชการภายในศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น