ค้นหาบล็อกนี้

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

สภากทม. ตั้ง คกก.วิสามัญพิจารณาการจ่ายขาดเงินสะสม 10,000 ล้านบาท ติงผู้บริหารใช้จ่ายเงินต้องรอบคอบ

สภากทม. แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ 29 คน พิจารณาจ่ายขาดเงินสะสม 10,000 ล้านบาท ก่อนได้รับความเห็นชอบ ด้านสมาชิกสภาฯ ร่วมอภิปรายกว้างขวางกระตุ้นผู้บริหารสานต่อโครงการเดิมให้แล้วเสร็จเพื่อประโยชน์กับประชาชน พร้อมติงหน่วยงานทำงานล่าช้าไม่มีประสิทธิภาพและยังขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการ
(19 ม.ค. 54) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 1 ครั้งที่ 3 ประจำปีพุทธศักราช 2554 โดยมีคณะสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกทม.

ผู้ว่าฯกทม. เสนอสภาเห็นชอบจ่ายขาดเงินสะสม 10,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนากทม.
ในที่ประชุม ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติขอความเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครจ่ายขาดเงินสะสมกรุงเทพมหานคร 10,000 ล้านบาท เนื่องด้วยกรุงเทพมหานคร มีความจำเป็นต้องจ่ายรายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาดเป็นการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้านต่างๆ เช่น การศึกษา ด้านโยธา ด้านระบายน้ำ ด้านการคลัง ด้านการจราจร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการป้องกันสาธารณภัย ด้านวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวและตามที่มีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย รวมทั้งรายจ่ายประจำที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อการบริหารจัดการตามภารกิจ โดยมิได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 หรือได้รับจัดสรรแต่ไม่เพียงพอ เช่น เงินช่วยเหลือข้าราชการและลูกจ้าง เงินสำรองสำหรับค่าสาธารณูปโภคและค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ เงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากร ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับภารกิจและหรือนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล เงินสำรองสำหรับค่าวัสดุและค่าซ่อมแซมยานพาหนะ และเงินสำรองสำหรับภาระผูกพันที่ค้างจ่ายตามกฎหมาย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ตามนัยข้อ 10 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม พ.ศ. 2553 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2538 กำหนดไว้ “การจ่ายขาดเงินสะสมเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร และให้กระทำได้ในกรณีที่เป็นกิจการที่มีความจำเป็นต้องจัดทำโดยรีบด่วน หรือเป็นกิจการซึ่งบำบัดความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง” และวรรคสอง “เมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้นำไปตราเป็นข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่าย โดยในการพิจารณาให้ยึดถือปฏิบัติเช่นเดียวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทั้งนี้การแปรญัตติจะต้องเป็นกิจกรรมตามวรรคหนึ่ง”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น