ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

กทม. เตรียมสถานที่รองรับผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา

กทม. เตรียมสถานที่รองรับผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา

กรุงเทพมหานครเตรียมรองรับผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้ารับบำบัดรักษาในโครงการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดระดับชาติ “ปฏิบัติการประเทศไทยเข้มแข็ง ชนะยาเสพติดยั่งยืน ภายใต้ ยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน ระยะที่ 3”

พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดกรุงเทพมหานครชี้แจงว่า กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาลเพื่อรองรับผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งจากสถิติการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในปี 2553 ของสถานบำบัดยาเสพติดในกรุงเทพมหานคร พบว่าผู้เข้ารับการบำบัดรักษาเป็นผู้เสพยาเสพติดชนิดยาบ้ามากที่สุดเกือบร้อยละ 90 โดยผู้เข้ารับการบำบัดร้อยละ 80 เป็นผู้ติดยาเสพติดที่ถูกจับคุมและดำเนินคดีทางกฎหมาย แต่กรุงเทพมหานครมีความประสงค์ให้ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดเกิดด้วยความสมัครใจโดยให้คนในครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมในการชักชวน จูงใจให้ผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษา รวมทั้งมีส่วนช่วยดูแล ติดตาม การฟื้นฟูสภาพทางร่างกายและจิตใจให้ผู้ติดยาเสพติดกลับไปดำเนินชีวิตในสังคมอย่างปกติ

กรุงเทพมหานครได้เตรียมสถานบำบัดฟื้นฟูรักษาผู้ติดยาเสพติดทั้งระบบบังคับบำบัดและระบบสมัครใจในการรองรับการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ซึ่งขอรับบริการได้ที่ศูนย์ซับน้ำตาของสำนักการแพทย์ คลินิกยาเสพติด 18 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่งของสำนักอนามัย โดยให้การบำบัด รักษา ฟื้นฟูสภาพผู้ติดยาเสพติดแบบระบบผู้ป่วยนอก รวมทั้งการบำบัด รักษา ฟื้นฟูสภาพผู้ติดยาเสพติดระบบผู้ป่วยใน ณ สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด (บ้านพิชิตใจ) ของสำนักอนามัย ซึ่งเป็นสถานที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ติดยาเสพติดได้รับการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพแบบครบวงจร รวมทั้งฝึกทักษะอาชีพเบื้องต้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้สมาชิกสามารถกลับไปดำเนินชีวิตในสังคมตามปกติ สามารถรับคำปรึกษาและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2329 1353, 0 2329 1566

ในส่วนของการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่นั้นศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดระดับเขตได้เร่งรัดการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับพื้นที่เพื่อลดปัญหายาเสพติดให้ปรากฏเป็นรูปธรรมในทุกพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น