กทม. วางแผนรับมือเหตุพายุหมุนเขตร้อน ปี 53 จัดเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง พร้อมป้องกันให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ หากประสบเหตุให้ประชาชนรับมืออย่างมีสติ และไม่ประมาท
พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือน พ.ค. – ส.ค. ทุกปี มักเกิดพายุหมุนเขตร้อน มีลมกรรโชกแรง ฝนตกหนัก อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมขัง และน้ำล้นตลิ่งจนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ กรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติภัยจากพายุหมุนเขตร้อนประจำปี 2553 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยกลับสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว
ทั้งนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด ได้แก่ สำนักการระบายน้ำ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการโยธา สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักงานเขต เตรียมพร้อมปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขน้ำท่วมอย่างเป็นระบบ ทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ตลอด 24 ชั่วโมง เข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุด้วยความรวดเร็ว โดยจัดกำลังคนทั้งจากหน่วยงานหลักและหน่วยงานสนับสนุน เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ รถยก และวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและวาตภัยเขตทั้ง 50 เขต เพื่อเป็นศูนย์ประสานการช่วยเหลือ กำหนดนโยบายและแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัย จัดหน่วย BEST ลงพื้นที่เสี่ยงเกิดปัญหาน้ำท่วม พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องอุปโภค – บริโภค เวชภัณฑ์ ยารักษาโรค น้ำดื่ม และสิ่งของที่จำเป็นสำหรับผู้ประสบภัยด้วย ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งเหตุได้ที่ สายด่วนกทม. โทร. 1555
ขอให้ประชาชนไม่ประมาท เตรียมพร้อมสำหรับการหลบเลี่ยงอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองอย่างมีสติ โดยขณะเกิดพายุหมุนหรือฝนฟ้าคะนองให้ประชาชนอยู่ห่างจากสิ่งที่อาจโค่นล้มได้ เช่น ป้ายโฆษณา ต้นไม้ เสาไฟฟ้า และควรอยู่ภายในอาคารบ้านเรือนที่มีความมั่นคงแข็งแรงจนกว่าสถานการณ์จะสงบ ถ้าอยู่ในตึกหรืออาคารสูงให้ใช้บันไดแทนการใช้ลิฟต์เพราะอาจเกิดไฟฟ้าดับทำให้ติดค้างอยู่ในลิฟต์ได้ หากอยู่ในที่โล่งแจ้ง ไม่ควรหลบใต้ต้นไม้หรือเพิงพักที่อยู่โดดเดี่ยว ไม่ควรใส่เครื่องประดับหรือถือวัตถุโลหะ หลีกเลี่ยง และหยุดทำกิจกรรมทันที เนื่องจากพื้นที่เปียกและวัตถุที่สูงหรืออยู่โดดเดี่ยวจะเป็นสื่อล่อฟ้า เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่าได้ ควรงดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและโทรศัพท์ ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน อย่าหยิบจับหรือเข้าใกล้สายไฟฟ้าหรือสายโทรศัพท์ที่ขาดตกห้อยตามพื้นถนนเพราะอาจถูกไฟฟ้าดูดได้ ควรให้คำแนะนำ ตักเตือนบุตรหลานให้อยู่ห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อไฟฟ้าทุกชนิด รวมถึงดูแลสิ่งของต่างๆ ที่อยู่นอกบ้านให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยเสมอ หากประชาชนพบเห็นกิ่งไม้ที่ไม่แข็งแรง หรือพาดอยู่บนสายไฟ หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงอาจโค่นล้มจากลมพายุได้ ให้รีบแจ้งศูนย์กู้ภัย โทร. 199 และสำนักงานเขตท้องที่ดำเนินการแก้ไขต่อไป
----------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น